ติดตั้งระบบไฟฟ้าในบ้านอย่างไรให้ปลอดภัย

30829
ระบบไฟฟ้า การติดตั้ง

ติดตั้ง ระบบไฟฟ้า อย่างไรให้ปลอดภัย

• ปัญหาไฟรั่ว ไฟช็อต ภายในบ้านมักเกิดจากสายไฟฟ้าชำรุด การวาง ระบบไฟฟ้า ไม่ดี ไม่มีฉนวนป้องกันไฟ หรือไม่ติดตั้งสายดิน ซึ่งอาจทำให้คนในบ้านได้รับอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้


พลังงานไฟฟ้าเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกที่สำคัญของโลก ถึงแม้มันจะช่วยทำประโยชน์ได้มากมาย แต่ก็แฝงภัยอันตรายด้วยเช่นกัน เราจึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า โดยเริ่มจากสิ่งใกล้ตัวคือ การเดินระบบไฟภายในบ้าน ซึ่งเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของชีวิตเราล้วนๆ เราจะต้องเรียนรู้เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับชีวิต และทรัพย์สินของเรา

ระบบไฟฟ้า การติดตั้ง

ปัญหาของสายไฟฟ้า

สายไฟฟ้าปกติจะมีอายุการใช้งานประมาณ 7-8 ปี หากพบว่าฉนวนที่หุ้มสายไฟเริ่มเปลี่ยนสีเป็นสีเหลือง หรือเริ่มกรอบแตก ควรเปลี่ยนสายไฟใหม่ทันที เพราะอาจเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้เนื่องจากไฟฟ้าลัดวงจรได้ อีกทั้งควรเดินสายไฟฟ้าแบบในท่อร้อยสายไฟ เพื่อป้องกันฉนวนที่หุ้มสายไฟไม่ให้ขีดข่วนชำรุด โดยเฉพาะสายไฟที่อยู่บริเวณนอกบ้าน เช่น ไฟรั้ว สนาม สายไฟส่วนใหญ่จะไม่มีท่อหุ้ม เมื่อโดนแดดโดนฝนนานๆ ก็จะรั่ว เป็นอันตราย ดังนั้นจึงควรหมั่นตรวจสอบอยู่เสมอ

ระบบไฟฟ้า การติดตั้ง

วิธีเดินระบบไฟฟ้าให้ปลอดภัย

บ้าน03

1. การต่อสายดิน

เครื่องใช้ไฟฟ้ามักมีส่วนประกอบที่ทำจากโลหะ เมื่อมีการชำรุดจะทำให้เกิดไฟรั่วได้ เป็นอันตรายต่อผู้ใช้งานอย่างมาก การต่อสายดินโดยใช้สายไฟฟ้าต่อกับโครงสร้างส่วนที่เป็นโลหะของอุปกรณ์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านั้นลงดิน ก็เพื่อเป็นทางให้กระแสไฟฟ้าที่อาจจะรั่วไหลออกมาจากอุปกรณ์ไฟฟ้าเหล่านั้นไหลลงสู่ดิน โดยผ่านทางสายดินที่ได้ต่อไว้ แทนที่จะไหลผ่านตัวผู้ใช้งานหรือผู้ที่ไปสัมผัส

บ้าน04

2. การใช้ฉนวนป้องกันไฟฟ้า

ฉนวนหุ้มสายไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ชำรุดฉีกขาดได้ง่าย ไม่ว่าการดึง กระชาก หรือวางสิ่งของทับสายไฟ ก็เป็นสาเหตุของการชำรุดได้ทั้งนั้น นอกจากนี้การต่อสายไฟฟ้าใช้งานชั่วคราวที่มักจะใช้ตะปูตอกกดทับไว้ ก็สามารถทำให้ฉนวนชำรุด กลายเป็นสายเปลือยไปจุดต่อต่างๆ ที่ต่อไว้โดยพันฉนวนป้องกัน ซึ่งจะกลายเป็นจุดอันตราย จึงควรหมั่นตรวจสภาพฉนวนของสายไฟฟ้า หรือสายอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ เพื่อหารอยแตกปริหรือฉีกขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตรงขั้วต่ออุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ขั้วหลอด ปลั๊ก ถ้าพบว่ามีการชำรุดอย่าปล่อยทิ้งไว้ ควรรีบซ่อมแซมหรือเปลี่ยนทันที

ระบบไฟฟ้า การติดตั้ง

3. ใช้สวิตช์ตัดวงจรอัตโนมัติ

อุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดนี้เป็นอุปกรณ์ที่สามารถตัดวงจรไฟฟ้าได้ทันทีที่มีกระแสไฟฟ้ารั่วไหลออกจากเครื่องใช้ไฟฟ้า ปกติในวงจรไฟฟ้าจะมีกระแสไฟฟ้าไหลในสายไฟทั้ง 2 สายเท่ากัน แต่เมื่อเกิดมีกระแสไฟฟ้ารั่วไหลลงดิน โดยผ่านร่างกายหรือผ่านตัวนำอื่นๆ ก็ตาม กระแสไฟฟ้าที่ไหลในสายทั้งสองจะไม่เท่ากัน เมื่อเกิดภาวะดังกล่าว อุปกรณ์ตรวจสอบการรั่วของกระแสไฟฟ้าจะส่งสัญญาณไปยังสวิตช์อัตโนมัติ ซึ่งทำหน้าที่ตัดวงจรทันทีก่อนที่จะมีผู้ได้รับอันตรายจากกระแสไฟฟ้า นับว่าเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้เป็นอย่างมาก แต่อุปกรณ์ชนิดนี้มีราคาแพง เอาเป็นว่าถ้าอยากเซฟชีวิตมากขึ้นก็ต้องลงทุนกันสักหน่อยค่ะ

คำแนะนำการวางระบบไฟฟ้าเพิ่มเติม

  1. การติดตั้งเครื่องปรับอากาศ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องใช้กำลังไฟเยอะๆ ควรแยกเบรกเกอร์ของใครของมันเพื่อความปลอดภัย

2. แยกสายเมนไฟในแต่ละชั้นพร้อมตู้ควบคุมไฟ เพื่อความสะดวกในการใช้งาน กรณีที่ไฟฟ้าชั้นใดชั้นหนึ่งมีปัญหา อีกชั้นจะยังคงสามารถใช้งานได้ตามปกติ และง่ายต่อการซ่อมบำรุง

3. การติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ปลั๊กหรือสวิตช์ด้านนอกบ้านที่มีโอกาสสัมผัสกับน้ำ ความชื้น หรือละอองฝน จะต้องติดตั้งชนิดมีฝาปิดกันน้ำเสมอเพื่อความปลอดภัย

4. การเดินสายไฟฝังในผนังจะต้องร้อยท่อเสมอ ใช้ได้ทั้งท่อที่ทำจาก EMT หรือท่อ PVC ซึ่งก็แล้วแต่งบประมาณในกระเป๋าของแต่ละคนค่ะ

5. สายไฟฟ้าที่อยู่บนฝ้าเพดานจะต้องร้อยท่ออ่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยจากหนูที่ชอบมากัดสายไฟ รวมถึงสภาพที่เปลี่ยนแปลงทั้งความร้อนและความชื้นที่อยู่บนฝ้าเพดาน เพื่อยืดอายุการใช้งานของสายไฟในบ้านคุณ

6

การติดตั้งระบบไฟฟ้า ท่านควรเลือกใช้ช่างไฟฟ้าที่น่าเชื่อถือและไว้ใจได้ เพราะมันเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของสมาชิกภายในบ้าน และที่สำคัญหากคุณพบสายไฟฟ้าในบ้านมีปัญหา หรือเริ่มเสื่อมสภาพ อย่าซ่อมเองเป็นอันขาด ควรตามผู้รู้หรือช่างมาซ่อมจะดีกว่าค่ะ

เรียบเรียงโดย : เสาเข็ม

สาว สวย สูง สุดสตรอง จิตใจหนักแน่น แข็งแกร่ง เปรียบเสมือนเสาเข็มของบ้าน รากฐานบ้านที่คงทน ต้องอาศัยความมั่นคงของเสาเข็ม แต่เรื่องงานบ้านเดิมที่ทำไม่ค่อยถนัด แต่อาศัยศึกษาจากคนนู้นที คนนี้ที พอมีความรู้หน่อยก็เลยอยากบอกต่อค่ะ