เหลือเชื่อ! 9 สิ่งของใกล้ตัวสกปรกกว่าชักโครก

1091
ชักโครก

สิ่งของที่สกปรกกว่า ชักโครก

ห้องสุขาเป็นห้องที่เราต้องใช้งานอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายหนักหรือถ่ายเบา สำหรับบางคนห้องสุขาเป็นมากกว่าห้องสำหรับขับถ่าย ถ้ามีหนังสือสักเล่มหรือสมาร์ทโฟนสักเครื่องละก็ เราสามารถนั่ง ชักโครก ได้เป็นชั่วโมง ตามชื่อของมันเลย “ห้องสุขา” แน่นอนเรามีความสุขกับการขับถ่ายนี่นา

ขณะที่บางคนกลับยี้ ไม่อยากอยู่ในห้องน้ำนานๆ เพราะกลัวเชื้อโรค ยิ่งบั้นท้ายสัมผัสกับสุขภัณฑ์นานๆ ยิ่งรู้สึกถึงความเสี่ยงที่จะเกิดโรค นั่นเป็นความคิดที่ถูกต้อง ฝารองนั่งชักโครกโดยเฉพาะห้องน้ำสาธารณะอุดมไปด้วยเชื้อโรคตัวร้ายอย่าง เชื้อรา แบคทีเรีย พยาธิชนิดต่างๆ ที่ทำให้เราเกิดอาการไข้หวัด ท้องร่วง ท้องเสีย หรือแม้แต่โรคติดเชื้อทางช่องคลอด ทั้งหลาย โอ๊ยยยยยย…ยิ่งคิดก็ยิ่งสยอง

ทว่า… ดร.รอน คัตเลอร์ ผู้อำนวยการคณะวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยควีนแมรี่ ประเทศอังกฤษเผยว่า จริงๆ ห้องน้ำและชักโครกอันแสนมอมแมมนั้นมีแบคทีเรีย 80 ตัวต่อตารางนิ้วเท่านั้น ซึ่งถือว่ายังสะอาดกว่าบางสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเราด้วยซ้ำไป ใครจะไปคิดว่าข้าวของเครื่องใช้บางอย่างของเรานี่แหละ มีเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดโรคร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย

ชักโครก สมาร์ทโฟน

1.โทรศัพท์และแท็บเล็ต

ชักโครกน่ะเบบี้ไปเลยเมื่อเจอกับโทรศัพท์มือถือที่เราใช้กัน ถ้าเทียบกันกับฝารองนั่งชักโครกแล้วโทรศัพท์มือถือสกปรกกว่าเป็นไหนๆ มือถือของเราเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคชั้นดี เพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนเรานี่แหละที่ใช้มือถืออยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะกินข้าว เข้าห้องน้ำ มือที่เลอะเทอะเปรอะเปื้อนอาหาร สิ่งสกปรกที่จับถือติดมือมา เหงื่อที่ออกจากฝ่ามือ ไหนจะเวลาที่เราวางมือถือไว้กับข้าวของบางอย่างที่สกปรก วันแล้ววันเล่ามือถือที่ไม่เคยได้รับการดูแลทำความสะอาดก็หมักหมมเต็มไปด้วยเชื้อโรคมากมาย

มหาวิทยาลัยแอริโซน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า โทรศัพท์มือถืออาจจะสกปรกกว่าฝารองนั่งชักโครกสาธารณะถึงกว่า 10 เท่า และแท็บเล็ตอาจจะสกปรกมากกว่าถึง 20 เท่า จากการวิจัยพบเชื้อโรคมากกว่า 17,000 ชนิดบนสมาร์ทโฟนหนึ่งเครื่อง ที่น่าตกใจกว่านั้นพบเชื้อโรคอันตรายทั้ง ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ต่างๆ เชื้ออีโคไล (E. coli) ที่ทำให้ท้องร่วง สเตรปโตคอคคัส (Streptococcus) สาเหตุของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และติดเชื้อในกระแสเลือด

อ่านบทความนี้เสร็จอย่าลืมทำความสะอาดโทรศัพท์กันล่ะ ใช้น้ำยาทำความสะอาดมือถือ โดยเฉพาะหรือทิชชู่เปียกเช็ดก็ได้ โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ที่ปล่อยให้ลูกๆ เล่นมือถือ พึงสังวรณ์ไว้ว่าเด็กๆ กำลังเสี่ยงกับเชื้อโรคอันตรายอยู่นะ

ชักโครก คีย์บอร์ด2.คีย์บอร์ด

จากการสำรวจคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์นั้นสกปรกกว่าชักโครกถึง 40 เท่า ด้วยซอกมุมที่มีอยู่มากมายนั้นเป็นแหล่งสะสมฝุ่น เชื้อรา แบคทีเรีย และพยาธิได้เป็นอย่างดี อีกสาเหตุเพราะคีย์บอร์ดได้รับการสัมผัสกับมือของเราโดยตรง การไม่ทำความสะอาดคีย์บอร์ด การไม่ล้างมือก่อนและหลังการใช้งาน ทำให้คีย์บอร์ดอันตรายกว่าที่เราคิด แถมอุณหภูมิอุ่นๆของคีย์บอร์ดนั้นยังเหมาะกับการเติบโตของเชื้อโรค รวมทั้งแมลงพาหะ อย่างมด ไร หรือแมลงตัวเล็กๆ ชนิดอื่นอีกด้วย

ชักโครก หูฟัง

3.หูฟัง

ทั้งหูฟังแบบสวมครอบและแบบใส่เข้าไปในรูหู ส่วนใหญ่หูฟังมักไม่ใช่สิ่งที่คนเราใส่ใจความสะอาดของมันนัก ถ้าสังเกตดีๆ โดยเฉพาะหูฟังแบบ In ear ก็จะเห็นว่าข้างในกรวยยางมีคราบขี้หูเหลืองๆ เข้าไปติดเกรอะกรัง นานวันเข้าเจ้าขี้หูในหูฟังก็จะจับฝุ่น เหงื่อ เชื้อรา และเชื้อโรคต่างๆ ไว้ แล้วเราเองนี่แหละที่พามันเข้าไปในหูอันแสนบอบบางของตัวเอง เดิมรูหูของคนเราเป็นแหล่งเจริญเติบโตชั้นดีของแบคทีเรียตัวร้ายอยู่แล้ว การสวมใส่หูฟังที่มีความร้อน อับ ยิ่งส่งเสริมให้เชื้อโรคเหล่านี้เติบโตได้ดียิ่งขึ้น และกลุ่มเสี่ยงที่มีสิทธิป่วยจากเชื้อโรคสะสมในหูฟังมากกว่าคนอื่น คือ คนที่มีกิจกรรมเป็นเหตุให้เหงื่อออกมากขณะสวมหูฟัง เช่น คนที่ออกกำลังกายไปด้วยสวมหูฟังไปด้วย

เชื้อโรคเหล่านี้นำไปสู่การติดเชื้อและนำมาซึ่งโรคภัยต่างๆ ได้ เช่น มีสิวในหู เป็นฝี หูบวมแดง คัน มีน้ำเหลืองไหล หนองในหู การอักเสบในช่องหู ซึ่งเป็นโรคที่สร้างความทุกข์ทรมานเป็นอย่างยิ่ง นอกจากต้องหมั่นดูแลความสะอาดของหูฟัง การใช้หูฟังร่วมกับคนอื่นก็เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงอีกด้วย

ตะเกียบ4.ตะเกียบ

ใครจะคิดว่าตะเกียบอันเล็กๆ จะทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ แต่เชื่อเถอะ ตะเกียบไม้ทั้งหลายเป็นเครื่องใช้ที่สกปรกยิ่งกว่าชักโครกเป็นไหนๆ โดยเฉพาะตะเกียบในร้านอาหารที่ล้างแล้วนำมาใช้ใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณะสุขยืนยัน ตรวจสอบพบว่าตะเกียบไม้ที่มีอายุการใช้งานเกินกว่าหนึ่งปีอุดมไปด้วยเชื้อราอันก่อให้เกิดอาการท้องร่วง ท้องเสีย และเชื้อ อีโคไล

ถึงแม้บางร้านจะใช้ตะเกียบแบบใช้แล้วทิ้ง ก็ใช่ว่าจะปลอดภัย 100% เพราะหากความชื้นเข้าไปได้เชื้อราก็เติบโตได้อยู่ดี ยิ่งไปกว่านั้นนิสัยการใช้ตะเกียบในร้านชาบู ปิ้งย่าง อาหารยอดนิยมของคนสมัยนี้ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะเจอกับโรคร้ายแรงแบบที่คาดไม่ถึงเลยทีเดียว เพราะส่วนใหญ่เคยชินกับการใช้ตะเกียบคีบหมูดิบลงหม้อ และนำตะเกียบนั้น คีบอาหารเข้าปาก พฤติกรรมนี้อาจนำไปสู่อันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เพราะเชื้อโรค หรือพยาธิต่างๆ จะติดมากับตะเกียบ เปรียบเสมือนรับประทานเนื้อหมูดิบ มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น พยาธิ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ การติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจ รวมถึงการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งอาจทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

รีโมท5.รีโมท

นักวิจัยจากสามมหาวิทยาลัยชื่อดังในสหรัฐประกอบด้วย มหาวิทยาลัยฮิวสตัน มหาวิทยาลัยเพอร์ดิว และมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเซาท์คาโรไลน่า เปิดเผยว่า รีโมทโทรทัศน์นั้นมีแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อแบคทีเรียอยู่หนาแน่น เฉลี่ย 112.7 กลุ่มต่อพื้นที่หนึ่งตารางเซ็นติเมตร สาเหตุนั้นก็เช่นเดียวกันกับอุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้งานด้วยการสัมผัสโดยตรงกับมือมนุษย์ ทั้งนี้รีโมทยังเป็นอุปกรณ์ที่แทบจะไม่ได้รับการดูแลทำความสะอาดอย่างที่ควรจะเป็นอีกด้วย รีโมทบางอันไม่เคยถูกทำความสะอาดเลยตั้งแต่การใช้งานครั้งแรกจนถึงเวลาชำรุด จะว่าไปก็จริงแฮะ =*=

 

พวงมาลัยรถยนต์

6.พวงมาลัยรถยนต์

ดร.รอน คัตเลอร์ ผู้อำนวยการคณะวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยควีนแมรี่ ประเทศอังกฤษได้ทำการวิจัยกลุ่มตัวอย่างทราบว่าผู้ขับขี่รถยนต์ 42% ชอบขับไปกินไป และมีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่ทำความสะอาดในรถ 1 ครั้งต่อปี ขณะที่อีก 10% ไม่เคยทำความสะอาดรถเลย

ยิ่งในเมืองใหญ่ที่มีรถติดหรือคนที่ต้องขับรถเป็นเวลานานๆ การจาม สั่งน้ำมูก ในรถ และการไม่ค่อยล้างมือ ยิ่งทำให้พวงมาลัยรถเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคได้เป็นอย่างดี ซ้ำร้ายอุณหภูมิร้อน เย็น ชื้น ภายในห้องโดยสารยิ่งอำนวยให้เชื้อรา และแบคทีเรียเติบโตได้อย่างรวดเร็ว พฤติกรรมดังกล่าวเป็นสาเหตุให้พวงมาลัยรถที่เราจับอยู่แทบทุกวันมีแบคทีเรียที่เป็นอันตรายเกือบ 700 ตัว บนเนื้อที่หนึ่งตารางนิ้ว มากกว่าชักโครกถึง 9 เท่า ตัวอย่างแบคทีเรียที่เป็นเชื้อโรคร้าย เช่น เชื้อบาซิลลัส เซเรอัส ที่ทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ

กระเป๋าสตางค์7.กระเป๋าสตางค์

เงินทั้งธนบัตรและเหรียญ ไม่ว่ามูลค่าของเงินตรานั้นจะมากน้อยต่างกันแค่ไหน แต่ในแง่ของการสะสมเชื้อโรคแล้วเหรียญยี่สิบห้าสตางค์แทบไม่ต่างจากแบงก์พันเลย แถมการส่งต่อเป็นทอดๆ มือต่อมือนั้นยังเป็นการแพร่เชื้อโรคได้เป็นอย่างดีอีกด้วย เพราะคนเรานั้นมีลักษณะนิสัยและการใช้ชีวิตต่างกัน แถมเงินที่เราใช้กันก็ไม่เคยได้รับการทำความสะอาดเหมือนสิ่งของอื่นๆ ด้วยเป็นของผ่านมือ

จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ระบุว่าธนบัตร 1 ใบ มีเชื้อแบคทีเรียสะสมเฉลี่ยถึง 26,000 ตัว มากที่สุดต่อหนึ่งใบถึง 135,000 ตัว เชื้อโรคเหล่านี้ล้วนมีอันตรายกับผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ และแทบประเมินไม่ได้ว่าเราเสี่ยงกับเชื้อโรคชนิดไหนบ้าง เพราะธนบัตรที่เราได้รับมานั้นแปดเปื้อนเชื้อโรคที่ต่างกัน ตั้งแต่ไข้หวัดไปจนถึงไข้สมองอักเสบ หรือเชื้อโรคที่ร้ายแรงกว่านั้น ทางที่ดีนอกจากหมั่นทำความสะอาดกระเป๋าสตางค์ หลังจากจับเงินก็ควรล้างมือให้สะอาดก่อนทำอย่างอื่นด้วยนะ

เขียง8.เขียง

อุปกรณ์เครื่องครัวของเราทั้งหลายขึ้นแท่นระดับท็อปแหล่งซ่องสุมเชื้อโรคจริงๆ ใครจะคิดว่าเขียงที่เราใช้กันอยู่ทุกๆ วัน สกปรกมากกว่าชักโครกถึง 200 เท่า นั่นก็เพราะเราใช้เขียงหั่นวัตถุดิบหลากหลายชนิด ทั้งเนื้อ ผัก และผลไม้ ทั้งวัตถุดิบจากบนบกและในน้ำ ซึ่งวัตถุดิบต่างๆ เหล่านี้นำพาเชื้อโรคที่มากับมันทั้ง ไรฝุ่น แบคทีเรีย จุลินทรีย์ ปรสิตต่างๆ รวมทั้งพยาธิหลากหลายชนิด ซึ่งเป็นเรื่องเกินคาดว่า เขียง คือ แหล่งสะสมและกำเนิดเชื้อโรคจากอุจจาระชั้นดี!!! ดร.ชัด เกอร์บา ศาสตราจารย์ด้านจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยอริโซนา ให้เหตุผลว่า เชื้อโรคจากอุจจาระดังกล่าวมาจากเนื้อดิบและเครื่องในของสัตว์ ที่มนุษย์นำมาประกอบอาหารนั่นเอง

นอกจากนั้นเขียงยังเป็นแหล่งอาหารชั้นดีสำหรับสัตว์พาหะอย่าง หนู แมลงสาบ แมลงวัน อีกด้วย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แสดงความห่วงใยว่าเขียงที่ไม่สะอาดนั้นจะนำมาซึ่งโรคระบบทางเดินอาหาร โรคฉี่หนู ไข้หวัดนก และสาเหตุของโรคมะเร็ง ทั้งยังแนะนำว่า เพื่อป้องกันโรคระบาดที่มากับวัตถุดิบบางชนิด นอกจากจะต้องหมั่นทำความสะอาดเขียงแล้ว ควรแยกเขียงหั่นสุกกับหั่นดิบ ออกจากกันอีกด้วย

ฟองน้ำล้างจาน9.ฟองน้ำล้างจาน

นี่สิถึงเรียกได้ว่าพีค ฟองน้ำล้างจาน คือ ที่สุดของความสกปรก นำโด่งทุกข้อที่เรากล่าวมาชนิดทิ้งกันแบบไม่เห็นฝุ่นและอันที่จริงเราก็พอจะเดาได้ ดร.ชัด เกอร์บา ศาสตราจารย์ด้านจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยอริโซนา เปิดเผยว่า ฟองน้ำล้างจานมีเชื้อโรคสะสมอยู่ถึง 10 ล้านตัวต่อตารางนิ้ว ฟองน้ำล้างจานหนึ่งก้อนมีพื้นที่ประมาณ 6 ตารางนิ้ว เท่ากับว่า ฟองน้ำล้างจานหนึ่งก้อนมีเชื้อโรคทั้งสิ้นกว่า 60 ล้านตัว!!! มากกว่าชักโครกถึง 200,000 เท่า สูงปรี๊ดปรอทแทบแตก

ส่วนเชื้อโรคกลุ่มเสี่ยงที่เอนจอยปาร์ตี้กันในเจ้าก้อนนุ่มฟูรูพรุนนั้น ได้แก่ เชื้อซัลโมเนลลา ที่มากับอาหารประเภทเนื้อสัตว์ เป็นสาเหตุของการเกิดโรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วงรุนแรง เชื้ออีโคไล ไข้ไทฟอยด์ อหิวาตกโรค รวมทั้งแบคทีเรียที่พบในมนุษย์ แม้จะมีบางหน่วยงานแนะนำให้ทำความสะอาดฟองน้ำล้างจานเช่น นำไปตากแดด 2 – 3 ชั่วโมง หรือแช่น้ำส้มสายชู เพื่อช่วยยับยั้งแบคทีเรีย แต่การวิจัยพบว่าวิธีการดังกล่าวไม่มีความหมาย เชื้อโรคทั้งหลายยังคงอยู่ดีมีสุขถึง 60% และการใช้งานฟองน้ำที่เต็มไปด้วยเชื้อโรคล้างเครื่องครัวก็จะทำให้เชื้อโรคเหล่านั้นติดไปกับเครื่องครัวด้วย เพราะฉะนั้น ฟองน้ำล้างจานจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรใช้งานนานเกินไปเพื่อสุขอนามัยที่ดี

บรึ๋ยยยยย…แต่ละอย่าง ทำเอาชักโครกดูสะอาดขึ้นมาเป็นกอง เห็นอย่างนี้แล้วดูท่าต้องขอตัวไปทำความสะอาดยกใหญ่ โดยเฉพาะฟองน้ำล้างจานคงถึงเวลาต้องจัดการมันแล้วล่ะ ไม่งั้นมันคงจะจัดการกับสุขภาพเราก่อน ยังไงคุณผู้อ่านก็อย่าลืมรักษาความสะอาดกันด้วยนะครับ ทั้งเพื่อตัวเราและคนที่เรารัก