เร่งสร้าง คอนโด พร้อมรับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

98
คอนโด ใกล้รถไฟฟ้า

เตรียมเฮ! ภาครัฐและเอกชนร่วมมือผลักดันให้เร่งสร้าง คอนโด ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

จากการที่รัฐบาลเดินหน้ารถไฟฟ้าในหลายเส้นทาง ส่งผลให้ความต้องการที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะ คอนโด เกิดขึ้นตามไปด้วย ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่เริ่มมีการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และกำหนดเปิดให้บริการในปี 2562-2563 จึงทำให้มีผลทำให้ผู้ประกอบการเข้าไปซื้อที่ดิน เพื่อพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมกันมากมาย ตามแนวถนนประชาราษฎร์สาย 2 จรัญสนิทวงศ์ และเพชรเกษม

สุรเชษฐ กองชีพ ผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยผลสำรวจคอนโดมิเนียมที่เปิดขายในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา มีทั้งหมดประมาณ 30,418 ยูนิต โดยมีคอนโดมิเนียมเปิดขายปีละมากกว่า 6,000 ยูนิตมาตลอด แต่ในปี 2560 มีคอนโดมิเนียมเปิดขายตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสีน้ำเงินมากกว่า 8,200 ยูนิต นั่นเป็นเพราะรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจะเปิดให้บริการในอีก 1-2 ปีข้างหน้า และผู้ประกอบการยังคงต้องการเปิดขายโครงการคอนโดมิเนียมในระดับราคาที่ไม่สูงเกินไปหรือไม่เกิน 3 ล้านบาท/ยูนิต เพื่อให้สอดคล้องกับกำลังซื้อส่วนใหญ่ของคนในพื้นที่นั่นเอง

คอนโด ใกล้รถไฟฟ้าอีกทั้งยังสอดคล้องกับตลาดที่อาจจะใช้เวลาในการขายนานกว่าโครงการคอนโดมิเนียมที่อยู่ในฝั่งพระนคร ราคาขายเฉลี่ยของคอนโดมิเนียมในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ณ ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 7.8 หมื่นบาท/ตารางเมตร แต่ก็มีหลายโครงการที่สร้างเสร็จแล้ว และเปิดขายที่มีราคามากกว่า 1 แสนบาท/ตารางเมตร นั่นแสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการบางรายมองเห็นว่าโครงการระดับนี้เป็นที่ต้องการของตลาดในพื้นที่ฝั่งธนบุรีเช่นกัน  แม้ว่ายอดขายของโครงการระดับนี้จะช้าเมื่อเทียบกับโครงการในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างเส้นทางอื่นๆ ก็ตาม

สำหรับคอนโดมิเนียมที่เปิดขายทั้งประมาณ 30,418 ยูนิต โดยมีอัตราการขายเฉลี่ยที่ประมาณ 85% ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงแม้จะมีคอนโดมิเนียมเหลือขายอยู่อีกไม่น้อยแต่ก็ไม่ได้เป็นที่น่ากังวล เมื่อเทียบกับพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างอื่นๆ และเป็นที่แน่นอนว่าในอนาคตจะมีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่อีกหลายโครงการแน่นอนเมื่อความคืบหน้าของเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมีมากกว่านี้ และเมื่อเส้นทางใกล้จะเปิดให้บริการยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของราคาที่ดินที่ปรับเพิ่มขึ้นแน่นอน

นอกจากนี้ จากแนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะบริเวณโดยรอบศูนย์คมนาคมพหลโยธิน ให้เป็นโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะตันแบบ (สมาร์ทซิตี้) โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เตรียมเสนอผลการศึกษาพัฒนาพื้นที่สถานีกลางบางซื่อที่องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือไจก้าศึกษา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ให้คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.พิจารณาภายในเดือน ม.ค. 2561 จากนั้นจะส่งมายังกระทรวงคมนาคม ใช้เวลาในการพิจารณา 2 เดือน เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนแม่บทต่อไป

ทั้งนี้ ภายในแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ตามที่ไจก้าศึกษา จะมีรูปแบบการพัฒนาสถานีรถไฟระบบขนส่งมวลชน โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ระบบสายอินเทอร์เน็ตและพลังงาน เช่น ท่อแก๊ส พลังงานหมุนเวียน รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ที่อยู่อาศัย ศูนย์การค้า ในพื้นที่แปลง A จำนวน 32 ไร่ มูลค่ากว่า 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งใช้ระยะเวลาการพัฒนา 10-15 ปี

จากแนวทางการพัฒนาร่วมกันในหลายฝ่าย จะยิ่งเป็นตัวผลักดันให้พื้นที่บางซื่อกลายเป็นทำเลสำคัญที่เชื่อมต่อการคมนาคมระบบรางที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะในประเทศ  ซึ่งต้องอาศัยแรงผลักดันจากภาครัฐและเอกชนร่วมมือผลักดันให้โครงการบรรลุผลได้อย่างเป็นรูปธรรมขึ้นมาได้

 

ที่มา : posttoday