เช็คลิสต์ 8 ข้อ ก่อนตรวจรับบ้านหลังใหม่

2913
ตรวจรับบ้าน หลังใหม่

ตรวจรับบ้าน หลังใหม่ต้องเช็คอะไรบ้าง

• ขั้นตอนการ ตรวจรับบ้าน จะต้องตรวจสอบให้ละเอียดทุกจุด ไม่ว่าจะเป็นกำแพงบ้าน ประตู หน้าต่าง พื้น ระบบท่อน้ำ ฯลฯ เสมือนเรากำลังเล่นเกมจับผิดภาพ หากคุณไม่ตรวจสอบคุณภาพให้ดีก่อนเข้าอยู่ คุณอาจจะต้องนอนฝันร้ายไปชั่วชีวิตเลยก็ได้


บ้านแสนรัก ที่คุณหวังจะให้เป็นพี่พักพิงทั้งยามหลับ และยามตื่น เงินที่จ่ายไปก็เสียไม่ใช้น้อย คงไม่ดีแน่หากคุณเซ็นรับบ้านก่อนเข้าไปตรวจสอบคุณภาพ เพราะอาจจะต้องนอนฝันร้ายไปอีกนาน เนื่องจากสภาพห้อง บานประตู หรือหน้าต่าง ยังทำไม่เสร็จสมบูรณ์ และถูกเมินเฉยจากเจ้าของโครงการ ฉะนั้นแล้วเราไปดูกันดีกว่าว่าก่อนเซ็นรับบ้านต้องตรวจเช็คจุดไหนบ้าง

บ้าน01

คำแนะนำเบื้องต้น

ช่วงเวลาในการตรวจงานที่ดีที่สุดคือช่วงกลางวัน เพราะจะมีแสงสว่างเพียงพอที่จะทำให้คุณมองเห็นได้ทุกซอกทุกมุม ควรเริ่มตรวจเช็คทีละห้อง ไม่ต้องรีบ ถ่ายรูปไว้ทุกห้อง และไม่ควรหลงเชื่อเจ้าหน้าที่ที่ให้เซ็นรับงานทั้งๆ ที่ยังพบว่างานไม่เรียบร้อย เพราะเมื่อคุณเซ็นไปแล้วก็ยากที่ทางโครงการจะรับผิดชอบ หรือกลับมาแก้ไขจุดบกพร่องให้ และหากงานยังไม่เสร็จตามเวลาที่ต้องเซ็นรับบ้าน ก็ไม่ควรย้ายเข้าไป นอกจากจะทำให้เสียเวลาแล้วคุณอาจจะหงุดหงิดมากๆ ด้วยค่ะ

สิ่งที่ควรตรวจสอบ

บ้าน02

1. พื้นที่นอกบ้าน

รั้วและประตูถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญไม่แพ้ตัวบ้าน ในกรณีที่เป็นประตูบานเปิด ประตูที่ดีควรจะเปิดได้สะดวก ไม่รู้สึกหนัก ไม่ฝืดติดอะไร แต่ก็ต้องไม่ลื่นหรือหลวมจนเกินไป หากเป็นประตูบานเลื่อน ก็ไม่ควรมีความรู้สึกฝืด เลื่อนแล้วไม่ตกราง ถ้าเป็นประตูเหล็กก็ควรตรวจเช็คเรื่องสีกันสนิมให้ดีค่ะ

ตรวจรับบ้าน หลังใหม่

2. ผนังบ้าน

ตัวผนังกำแพงนี่สำคัญมากๆ ไม่ว่าจะภายในหรือภายนอก หากมีลักษณะเหมือนการแตกลายงา ซึ่งเกิดจากการแยกตัวของปูนฉาบที่แห้งไม่สม่ำเสมอกัน สามารถแก้ไขได้ด้วยการโป้วสี บางรอยเกิดจากปูนฉาบร่อน เพราะไม่เกาะตัวกับวัสดุก่อผนัง และถ้ามีรอยร้าวต้องรีบแจ้งกับทางวิศวกรที่เดินตรวจงานกับเรา แต่ไม่ต้องตกใจไปนะคะ การฉาบปูนอาจจะมีการร่อน การยืดหยุ่นของเนื้อปูนได้ ไม่ได้เป็นที่โครงสร้างร้าว แต่ก็ต้องดูรอยว่าลึกหรือไม่ลึก ถ้าลึกมากก็ควรให้เขาฉาบใหม่ แต่ถ้ารอยไม่ลึกก็ให้เขาโป้วสีให้ใหม่ค่ะ

ตรวจรับบ้าน หลังใหม่

3. ตรวจสอบพื้น

สามารถตรวจสอบได้ง่ายมาก เพียงสังเกตด้วยตา หรือการสัมผัสด้วยมือ เช่น พื้นผิวเรียบดี หรือแอ่น และโก่งไหม วิธีง่ายๆ คือ การนำลูกแก้ววางบนพื้น ห่างกันประมาณ 10 ซ.ม. แล้วดูว่าลูกแก้วไหลไปทางไหน ถ้าไหลไปรวมกันแสดงว่าพื้นเป็นหลุม หากจุดไหนมีลูกแก้วติดอยู่แสดงว่าพื้นปูด แต่ถ้าปูพื้นด้วยกระเบื้อง ให้ใช้เหรียญบาทเคาะที่พื้นดูว่ามีเสียงโป่งๆ ที่พื้นหรือเปล่า หากมีให้ทำสัญลักษณ์โดยการมาร์คจุดไว้เพื่อให้ทางโครงการปรับแก้

บ้าน05

4. ระบบสุขาภิบาล

คุณจะต้องเปิดก๊อกน้ำเพื่อดูการไหลของน้ำ ดูการทำงานของวาล์วทุกตัวว่าใช้งานได้หรือไม่ และต้องตรวจดูว่าเครื่องสุขภัณฑ์อย่าง อ่างล้างหน้า อ่างอาบน้ำ หรืออ่างล้างจาน เมื่อปล่อยน้ำไว้จนเต็มแล้ว ให้สังเกตการระบายว่าไหลได้สะดวกไหม แล้วปล่อยน้ำออกทันที ถ้าน้ำไหลไม่สะดวก เกิดเสียงดังปุดๆ สันนิษฐานได้ว่าไม่มีท่ออากาศ ท่ออากาศอุดตัน หรือทำท่ออากาศเล็กเกินไป

บ้าน06

5. ระบบไฟ

ให้เปิดไฟในบ้านและนอกบ้านทุกดวง เพื่อตรวจดูว่าสามารถใช้งานได้ครบทุกดวงหรือไม่ สำหรับสวิตช์ไฟฟ้าให้ลองเปิด–ปิดทุกดวง และควรเตรียมอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เสียบปลั๊กไปด้วย ทางที่ดีนำอุปกรณ์วัดไฟไปด้วยก็จะดีที่สุดค่ะ

บ้าน07

6. งานสีและวอลเปเปอร์

ใช้วิธีตรวจที่ง่ายมาก งานติดวอลเปเปอร์ต้องเรียบเนียน ไม่โปร่งพอง ส่วนสีให้ดูที่ความสม่ำเสมอของเนื้อสี ความกลมกลืน ไม่มีรอยด่าง เนื้อสีไม่ลอกหลุดร่อน ส่วนใหญ่ทางโครงการจะทำมาดี ไม่ค่อยมีที่ติเนืองจากเป็นจุดที่ตรวจสอบง่าย

บ้าน08

7. ฝ้าและหลังคาบ้าน

การตรวจสอบฝ้าเพดาน ให้ตรวจสอบรอยต่อของตัววัสดุ จะต้องได้แนวฉาก แผ่นฝ้าไม่เป็นริ้วคลื่นจนขาดความสวยงาม เว้นระยะห่างเท่ากันตลอด ฝ้าเพดานที่ปิดโครงหลังคาจะต้องสังเกตดูว่ามีร่องรอยน้ำรั่วมาจากหลังคาหรือไม่ ถ้ามีก็ควรบอกให้ช่างแก้ไข หาสาเหตุของน้ำรั่วซึม วิธีตรวจสอบการรั่วซึมของน้ำ ทำได้ด้วยการฉีดน้ำให้ทั่วหลังคา แล้วตรวจดูว่ามีการรั่วซึมหรือไม่ โดยสังเกตร่องรอยน้ำหยดที่พื้น หรือคราบน้ำที่ฝ้าเพดาน

บ้าน09

8. ประตู หน้าต่าง

ตรวจดูอุปกรณ์ประกอบต่างๆ ทั้งมือจับ บานพับ กลอนประตู หน้าต่าง ติดตั้งได้เรียบร้อยหรือไม่ ตำแหน่งในการติดตั้งต้องถูกต้อง ได้แนวได้ระดับ มองแล้วสวยงาม ไม่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง การเจาะรูกลอนประตู หน้าต่าง ต้องเรียบร้อย ไม่ฉีกหรือแหว่ง ตำแหน่งของรูกลอนต้องพอดีกับกลอน ไม่หลวมหรือฟิตจนเกินไป ประตูและหน้าต่างทุกบานปิด-เปิดได้สะดวก ไม่ติดขัดหรือเกิดเสียงดังขณะใช้งาน กลอนและกุญแจทุกตัวใช้งานได้จริง ขนาดของกรอบบานลูกฟักเจาะเป็นช่องขนาดเท่ากัน

การตรวจเช็คความเรียบร้อยก่อนเซ็นรับบ้านเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ควรรีบตรวจให้เสร็จๆ ควรใช้วิธีตรวจเหมือนเล่นเกมจับผิดค่ะ เพราะหากเจอจุดบกพร่องคุณก็จะสามารถแจ้งให้ทางโครงการแก้ไขได้ทัน และควรเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ลงวันที่ เพียงเท่านี้คุณก็จะได้รับสิ่งที่ดีที่สุดมาครอบครองแล้วค่ะ

เรียบเรียงโดย : เสาเข็ม

สาว สวย สูง สุดสตรอง จิตใจหนักแน่น แข็งแกร่ง เปรียบเสมือนเสาเข็มของบ้าน รากฐานบ้านที่คงทน ต้องอาศัยความมั่นคงของเสาเข็ม แต่เรื่องงานบ้านเดิมที่ทำไม่ค่อยถนัด แต่อาศัยศึกษาจากคนนู้นที คนนี้ที พอมีความรู้หน่อยก็เลยอยากบอกต่อค่ะ