วิธีป้องกัน ไฟไหม้
• การเกิด ไฟไหม้ บ้านล้วนเกิดจากความประมาทเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการจุดธูปเทียนทิ้งไว้ หรือใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐาน หากเลี่ยงพฤติกรรมเหล่านี้เสี่ยงได้ก็ควรทำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอัคคีภัย
มีสุภาษิตกล่าวไว้ว่า “โจรปล้นสิบครั้ง ไม่เท่าไฟไหม้ครั้งเดียว” คุณคงไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับคุณใช่ไหมคะ? ปัญหาการเกิดไฟไหม้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกบ้าน ไม่ว่าจะเกิดจากความตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม แต่บ่อยครั้งที่เกิดก็มักมาจากความประมาทเลินเล่อ เรามาดูกันดีกว่าค่ะว่าเราสามารถป้องกันไฟไหม้บ้านได้อย่างไรบ้าง
สาเหตุที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้
การเกิดอัคคีภัยล้วนเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ แต่เรามักพบว่าสาเหตุส่วนใหญ่ล้วนเกิดจากความประมาทในการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า การใช้เชื้อเพลิง การเผาขยะและหญ้าแห้ง หรือแม้แต่ไฟฟ้าลัดวงจร เนื่องจากสภาพการใช้งานนาน ขาดการดูแลบำรุงรักษา จะเห็นได้ว่าเหตุไฟไหม้บ่อยครั้งมักสร้างความสูญเสียใหญ่หลวง เพราะไฟสามารถแผ่ขยายเป็นวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว รวมไปถึงทำให้เสียชีวิตได้อีกด้วย
ป้องกันไฟไหม้ง่ายๆ เริ่มต้นที่ตัวเรา
1.เลิกพฤติกรรมเสี่ยง
สาเหตุหลักเลย คือ พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้อยู่บ่อยครั้ง เช่น การสูบบุหรี่บนเตียงนอน ลืมถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้า การจุดธูปเทียนไหว้พระ หรือเก็บวัตถุไวไฟไว้ในที่ที่ไม่ปลอดภัยจนเด็กสามารถหยิบมาเล่นได้ง่ายๆ รวมทั้งการหุงต้มอะไรทิ้งไว้นานๆ การกระทำเช่นนี้มีความเสี่ยงอย่างมาก ดังนั้น จึงควรเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้ และหมั่นตรวจสอบความเรียบร้อยทุกบริเวณก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง
2.ติดตั้งเครื่องระบายอากาศ
สภาพอากาศบ้านเราค่อนข้างร้อน อบอ้าว เป็นสาเหตุทำให้เกิดความร้อนสูงภายในบริเวณบ้าน ดังนั้น ควรติดตั้งเครื่องระบายอากาศ หรือหาทางระบายความร้อนให้บ้าน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดพัดลม แง้มประตูหน้าต่างเพื่อระบายอากาศภายในห้อง และควรติดตั้งระบบระบายอากาศบนฝ้าเพดานเพิ่มเข้าไปเพื่อความปลอดภัยให้มากขึ้น
3.ป้องกันไฟไหม้ในห้องครัว
การทำกับข้าวสามารถก่อประกายไฟได้ จึงไม่ควรปล่อยให้เตามีคราบอาหารหรือน้ำมันเกาะติด เพราะจะทำให้ประกายไฟจากเตากระเด็นมาโดนจนเกิดเพลิงไหม้ และไม่ควรวางวัตถุไวไฟไว้ใกล้ๆ เตา และหากที่บ้านมีเด็กต้องคอยสอนให้เด็กไม่ให้เข้ามาเล่นในครัว ทางที่ดีควรซื้อถังดับเพลิง และเรียนรู้วิธีใช้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมอีกด้วยค่ะ
4.ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างระมัดระวัง
เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดสามารถก่อเพลิงไหม้ได้ทั้งนั้น จึงต้องระมัดระวังการใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้า และควรหมั่นตรวจสอบความชำรุดของสายไฟทุกครั้งก่อนการใช้งาน ไม่ควรเสียบปลั๊กไฟค้างไว้เมื่อเลิกใช้งาน หรือการใช้ปลั๊กพ่วงเสียบใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายๆ ชิ้น พร้อมกัน เพราะอาจส่งผลทำให้เกิดไฟฟ้ารัดวงจร และเกิดไฟไหม้ได้ในที่สุด
5.ติดตั้งเครื่องตัดไฟ
ไม่ว่าจะเป็นเครื่องตรวจจับควันไฟ หรือเครื่องตัดไฟ ก็ควรมีติดไว้ที่บ้าน เพราะหากเกิดเหตุเมื่อไหร่ เจ้าอุปกรณ์นี้จะแจ้งเตือนสัญญาณ หรือตัดกระแสไฟได้ทันการก่อนที่จะเกิดเหตุเพลิงไหม้ รวมทั้งควรติดตั้งสายดินภายในบ้านเพื่อป้องกันเพิ่มขึ้นอีกชั้น การป้องกันเหล่านี้จะช่วยลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นภายในบ้านได้
การป้องกันไฟไหม้บ้านไม่ใช่เรื่องยาก เพียงคุณหันมาเช็คเครื่องใช้ไฟฟ้า โละของเก่าทิ้ง อย่าเสียดายเลยค่ะ เพราะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เก่าอาจเสื่อมคุณภาพแล้วก็ได้ เสียเวลาตรวจสอบนิดหน่อยแลกกับความปลอดภัยน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
เรียบเรียงโดย : เสาเข็ม
สาว สวย สูง สุดสตรอง จิตใจหนักแน่น แข็งแกร่ง เปรียบเสมือนเสาเข็มของบ้าน รากฐานบ้านที่คงทน ต้องอาศัยความมั่นคงของเสาเข็ม แต่เรื่องงานบ้านเดิมที่ทำไม่ค่อยถนัด แต่อาศัยศึกษาจากคนนู้นที คนนี้ที พอมีความรู้หน่อยก็เลยอยากบอกต่อค่ะ