ข่าวดี! โครงการ บ้าน แลกบ้านประชารัฐจาก กคช.

1076
บ้าน แลกบ้านประชารัฐ

เปิดหลักเกณฑ์โครงการ บ้าน แลกบ้านประชารัฐจาก กคช.

การเคหะฯ เปิดหลักเกณฑ์ บ้าน แลกบ้าน หวังให้ลูกค้าที่ต้องการขยายครอบครัว และยกระดับการอยู่อาศัย โดยมีการจัดทำโครงการบ้านแลกบ้าน เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้สอดคล้องกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยเริ่มใช้ในเดือนมกราคม 2561 นี้

โครงการ “บ้านแลกบ้านประชารัฐ” คือการเปิดโอกาสให้ประชาชนนำบ้านเอื้ออาทรมาแลกกับบ้าน ของ กคช. ด้วยกัน ซึ่งส่วนต่างของราคา กคช. จะเป็นสื่อกลางติดต่อสถาบันการเงิน อาทิ ธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ เพื่อปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้า โดยมีหลักทรัพย์เป็นตัวค้ำประกัน หรือบ้านเอกชนแลกกับบ้าน กคช. ซึ่งจะส่งผลดีในการช่วยลดซัพพลายที่เหลืออยู่เป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกัน กคช. ซึ่งมีหน่วยการซ่อมบ้าน สามารถปรับปรุงบ้านที่นำมาแลกให้มีสภาพสมบูรณ์ และสามารถจำหน่ายให้กับตัวแทนขายหรือโบรกเกอร์ เพื่อขายหรือให้เช่าต่อไปได้ด้วย

ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เผยว่า การเคหะแห่งชาติได้จัดเตรียมของขวัญปีใหม่ 2561 เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการมอบความสุขให้กับพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ โดยเตรียมของขวัญ “ลด แลก แจก แถม” ไว้ให้กับลูกค้า ซึ่งหนึ่งในนั้นคือโครงการ “บ้านแลกบ้าน” ที่เปิดโอกาสให้ผู้อยู่อาศัยในโครงการของการเคหะฯ ที่มีบ้านขนาดเล็กและต้องการพื้นที่ใช้สอยได้มีขนาดบ้านที่ใหญ่ขึ้น เพื่อความสะดวกสบายของครอบครัว โดยนำบ้านเก่ามาแลกบ้านใหม่ของการเคหะฯ ที่มีขนาดใหญ่กว่าหรือบ้านที่มีราคาสูงกว่า โดยจะเริ่มโครงการนี้ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2561 เป็นต้นไป

สำหรับเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ของโครงการ บ้าน แลกบ้านแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

กลุ่มลูกค้าที่มีสัญญาจอง/สัญญาจะซื้อจะขายกับการเคหะฯ ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและไม่มีหนี้ค้างชำระกับการเคหะฯ จะต้องชำระค่าธรรมเนียมแลกเปลี่ยนภายในโครงการเดียวกันจำนวน 2,000 บาท แต่ถ้าแลกเปลี่ยนต่างโครงการจะต้องชำระค่าธรรมเนียม5,000-1 หมื่นบาท ขึ้นอยู่กับราคาขาย

ขณะที่กลุ่มลูกค้าที่ทำสัญญาเช่าซื้อกับการเคหะฯ ที่ส่งมอบโครงการแล้ว และไม่มีหนี้ค้างชำระจะมี 2 ทางเลือกด้วยกัน ได้แก่ ทางเลือกที่ 1 จะมีค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระในการแลกเปลี่ยนบ้าน ประกอบด้วย ค่าธรรมเนียมแลกเปลี่ยนภายในโครงการเดียวกัน 2,000 บาท หากแลกเปลี่ยนต่างโครงการจะต้องชำระค่าธรรมเนียม 5,000-1 หมื่นบาท ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับราคาขาย รวมทั้งค่าใช้ประโยชน์จากตัวอาคารเดิมที่คิดเดือนละ 0.5% ของราคาขายเงินสดนั่นเอง

และสำหรับในกรณีที่อาคารชำรุดเสียหาย ทางการเคหะฯ ก็จะคิดค่าซ่อมแซมอาคาร โดยทางการเคหะจะเป็นผู้ตรวจสอบ และประมาณราคาค่าซ่อมแซม ส่วนการคำนวณจำนวนเงินเพื่อแลกเปลี่ยนอาคารนั้น จะนำเงินที่ชำระมาแล้วทั้งหมด หักด้วยค่าใช้ประโยชน์และค่าซ่อมแซมอาคาร (ถ้ามี) และนำเงินในส่วนที่เหลือไปหักออกจากราคาขายของอาคารที่ขอแลกเปลี่ยน ส่วนทางเลือกที่ 2 สำหรับลูกค้าที่ต้องการแลกบ้าน โดยมีผู้รับซื้อบ้านของตนเองก่อน การเคหะฯ จะไม่คิดค่าธรรมเนียมการแลกเปลี่ยน ค่าใช้ประโยชน์ในตัวอาคาร และค่าซ่อมแซมอาคาร

เรียกได้ว่าเป็นโครงการที่นอกจากจะช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้มีบ้าน หรือที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองแล้ว ยังช่วยให้ กคช. มีสภาพคล่อง และมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งขึ้นอีกด้วย

 

ที่มา : Posttoday