มาป้องกันความร้อนให้กับบ้านของคุณกันเถอะ

1072
ความร้อน

วิธีลด ความร้อน ภายในบ้าน

• ปัญหา ความร้อน ภายในบ้าน เป็นหนึ่งในปัญหาหลักที่เจ้าของบ้านหลายท่านต้องเผชิญ ซึ่งนอกเหนือจากการลดความร้อนส่วนใหญ่ที่มาจากหลังคาแล้ว การลดความร้อนที่ผนังก็สามารถช่วยลดอุณหภูมิภายในบ้านลงได้เช่นกัน


สภาพอากาศในบ้านเรานับวันความร้อนยิ่งเพิ่มทวีมากยิ่งขึ้น เล่นเอาหลายๆ บ้านถึงกับต้องแก้ปัญหานี้ด้วยการติดตั้งเครื่องปรับอากาศเพื่อให้บ้านที่อยู่อาศัยนั้นเย็นสบาย แต่นั่นไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ดีเลยนะคะ แถมยังทำให้คุณมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นไปอีก ดังนั้น Gurubaan มีข้อแนะนำและวิธีต่างๆ ที่จะช่วยป้องกันความร้อนให้กับบ้านของคุณมาฝากกันค่ะ

ความร้อน1
1.หลังคาบ้าน
หลังคาเป็นส่วนที่รับความร้อนจากแสงอาทิตย์มากที่สุด การเลือกซื้อหลังคาที่มีคุณสมบัติสะท้อนรังสีความร้อนและไม่อมความร้อน จึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านได้ในด่านแรก นอกจากนี้การออกแบบหลังคาในลักษณะที่สูงโปร่ง ก็สามารถลดอัตราการเก็บสะสมความร้อนภายในได้เช่นกัน หากต้องการให้บ้านเย็น ควรหลีกเลี่ยงหลังคาประเภทเมทัลชีท เพราะโลหะจะนำความร้อนได้ดีกว่าวัสดุอื่นๆ นั่นเอง

2.แผ่นฉนวนกันความร้อน
แม้แผ่นสะท้อนความร้อนจะป้องกันความร้อนเข้าสู่บ้านได้ แต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด แค่ช่วยให้ความร้อนเบาบางลงเท่านั้น แผ่นฉนวนกันความร้อนจึงเป็นอีกส่วนที่จะเป็นเกราะป้องกันความร้อนเข้าสู่ฝ้าเพดานของบ้าน โดยแผ่นดังกล่าวใช้ในการติดตั้งบนฝ้าเพดาน สามารถติดตั้งเพิ่มได้โดยทันทีจึงเหมาะกับการนำมาใช้ทั้งบ้านเก่าและบ้านใหม่

3.แผ่นฉนวนสะท้อนความร้อน
เป็นแผ่นที่ติดใต้แผ่นกระเบื้องหลังคา คุณสมบัติช่วยสะท้อนความร้อนที่เข้าผ่านหลังคาออกสู่ภายนอก ไม่เข้ามาสะสมที่พื้นใต้หลังคา แผ่นสะท้อนความร้อนจะติดตั้งพร้อมหลังคา จึงเหมาะกับบ้านสร้างใหม่ ทั้งนี้ แผ่นสะท้อนความร้อนมีอายุการใช้งานอย่างจำกัด เมื่อใช้ไปนานๆ คุณสมบัติของแผ่นสะท้อนอาจลดลงไปได้ หากบ้านไหนเคยติดตั้งไว้นานแล้ว ลองตรวจเช็คกันดูว่าแผ่นฉนวนที่ใช้อยู่นั้น ยังสามารถสะท้อนความร้อนได้อีกหรือไม่

ความร้อน2

4.สร้างร่มเงาให้ผนัง
ติดตั้งระแนงหรือกันสาดรูปแบบต่างๆ ให้เหมาะสมตามทิศทางแสงแดดในแต่ละด้าน เพื่อช่วยกรองแสงแดดที่ส่องกระทบผนัง และช่องเปิดยังช่วยลดความร้อนที่สะสมในผนังได้ สำหรับบ้านที่ยังไม่ได้สร้างควรออกแบบให้มีชายคายื่นออกมา 1.5 – 2 เมตร จะช่วยกันแดดได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้หากมีพื้นที่โดยรอบบ้านพอสมควร การปลูกต้นไม้เพื่อให้ความร่มเงา หากเป็นต้นไม้ใหญ่ควรปลูกให้ห่างจากตัวบ้านอย่างน้อย 2-3 เมตร เพื่อป้องกันต้นไม้บังทิศทางลมนั่นเอง

ความร้อน4

5.ผนังกันความร้อน

เมื่ออ้างอิงข้อมูลจากการออกแบบบ้านให้สอดคล้องกับธรรมชาติด้านทิศทางลมและแสงแดดไปแล้ว เราจะทราบได้โดยทันทีว่า ด้านที่ร้อนมากที่สุดเป็นทิศตะวันตกและทิศใต้ ซึ่งพระอาทิตย์จะส่องตรงเข้าสู่ทิศนี้ตั้งแต่ช่วงบ่ายถึงยามเย็น เพราะฉะนั้นเพื่อการป้องกันความร้อนจากแสงอาทิตย์ที่ดี ผนังบ้านฝั่งทิศตะวันตกและทิศใต้จึงควรติดตั้งฉนวนกันความร้อน บริเวณรอบบ้านควรมีไม้ยืนต้นช่วยกรองแสงแดด นอกจากนี้การเลือกวัสดุในการก่อผนัง ยังสามารถช่วยลดความร้อนได้เช่นกัน กรณีก่ออิฐมอญแดงแนะนำให้ก่ออิฐ 2 ชั้น ในด้านดังกล่าว จะช่วยกันความร้อนได้ดีมากเลยทีเดียว

6.กระจกที่ช่องเปิด
หมายถึงส่วนที่สิ่งของต่างๆ สามารถผ่านได้โดยตรง ซึ่งมีทั้งช่องเปิดแบบที่เป็นช่องโล่ง ช่องแบบที่เป็นบานประตู หรือหน้าต่างเปิดปิดแบบต่างๆ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ความร้อนจากแสงแดดสามารถผ่านเข้ามาได้ง่าย ทั้งทางหน้าต่าง ประตู หรือบ้านที่ออกแบบสไตล์โมเดิร์น ซึ่งมักใช้กระจกแทนผนัง การเลือกใช้กระจกสองชั้น กระจกลามิเนต กระจก Low-E หรือติดฟิล์มกันรังสี UV เพิ่มเติมบนกระจกเดิม จะช่วยลดความร้อนที่ผ่านเข้ามาได้มากพอสมควร รวมถึงการใช้ม่านกันแสงยังช่วยป้องกันความร้อนได้อีกชั้นหนึ่งด้วยนะคะ

7.ฝ้าชายคา
วัสดุดังกล่าวมักเป็นสิ่งที่ถูกมองข้าม สำหรับฝ้าชายคาในอดีตนิยมใช้แผ่นสมาร์ชบอร์ดแบบปิดทึบ ซึ่งจะทำให้ความร้อนใต้โถงหลังคาถูกปิดขังระบายออกได้ช้า ปัจจุบันฝ้าชายคารุ่นใหม่มีการฉลุลาย เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก การออกแบบดังกล่าวนี้หากให้ได้คุณสมบัติที่ดียิ่งขึ้น ควรสร้างบ้านโดยการใช้หลักการทิศทางลม ซึ่งจะทำให้เกิดการถ่ายเทอากาศได้ดี

8.พัดลมระบายอากาศ
ภายในห้องที่มีพื้นที่แคบอุดอู้ ไม่มีอากาศถ่ายเท เช่น ห้องน้ำ ความร้อนจะสมสมสูงมาก การติดตั้งพัดลมระบายอากาศสามารถช่วยได้ในระดับดีพอสมควร ตรงส่วนนี้เป็นการลงทุนน้อยแต่คุ้มค่า เนื่องด้วยห้องน้ำเป็นส่วนสำคัญต่อชีวิตประจำวัน บางบ้านร้อนมากๆ อาบน้ำเสร็จใหม่ๆ เหงื่อก็แตกเหมือนเดิม ดังนั้น การติดพัดลมระบายอากาศจึงเป็นวิธีที่ช่วยแก้ปัญหาได้อย่างแน่นอน

ความร้อน3

9.พื้นบ้าน
การเลือกวัสดุพื้นบ้าน เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยลดการอมความร้อนได้เป็นอย่างดี วัสดุแต่ละประเภทให้อุณหภูมิที่แตกต่างกัน มีคุณสมบัติในการอมความร้อนที่แตกต่างกันไป อาทิ วัสดุพื้นคอนกรีต มีคุณสมบัติอมความร้อนสูงกว่าวัสดุประเภทไม้ การเลือกซื้อวัสดุปูพื้นจึงควรศึกษารายละเอียดให้มากเป็นพิเศษ อีกทั้งความเย็นของพื้น ยังเป็นส่วนสัมผัสโดยตรงจากฝ่าเท้า หากพื้นเย็นร่างกายก็เย็นขึ้นตามไปด้วย

10.พื้นรอบบ้าน
บ้านชนบทในอดีต บริเวณรอบบ้านส่วนใหญ่เป็นพื้นดินและสนามหญ้า แต่บ้านในเมืองยุคใหม่นิยมใช้พื้นคอนกรีต ทั้งรูปแบบเทคอนกรีตทั่วไป คอนกรีตพิมพ์ลาย วัสดุเหล่านี้มีคุณสมบัติสะสมความร้อนสูง แตกต่างจากพื้นดิน พื้นหญ้า ซึ่งสามารถระบายความร้อนได้ดีกว่า ทั้งนี้ ดินและสนามหญ้าอาจเป็นปัญหาด้านความเปียกแฉะในหน้าฝน การแก้ปัญหาดังกล่าว อาจเลือกใช้วัสดุประเภทพื้นอิฐตัวหนอน บล็อกปูหญ้า แผ่นพื้นทางเดินสำเร็จรูป เป็นต้น เนื่องจากวัสดุประเภทนี้มีช่องว่างระหว่างช่วงรอยต่อ และสามารถเว้นระยะการปูพื้นสลับกับสนามหญ้าได้โดยง่าย ทำให้การสะสมความร้อนลดน้อยลงไปมากกว่าการเทพื้นคอนกรีตทั้งหมด
เพียงเท่านี้บ้านของคุณก็จะเย็นขึ้นแล้วค่ะ แถมยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายภายในบ้านได้ในระยะยาวอีกด้วย ร้อนนี้ก็คงไม่ต้องไปไหนแล้วล่ะ ยอมเหนื่อยลงทุนเพียงครั้งเดียวแต่ได้อาศัยอยู่ภายในบ้านที่อากาศเย็นสบายไปตลอด และอยู่บ้านแบบไม่ต้องทรมานในช่วงหน้าร้อนอย่างที่เคยเป็นมาอีกต่อไป

เรียบเรียงโดย : กันสาด

ฉายานี้อาจฟังดูไม่เพราะ เพราะจริงๆแล้วกันสาด คือขนตาของดิฉันเอง ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับบ้านหรอก ที่สำคัญเป็นคนรักบ้านคิดว่าบ้านคือสวรรค์ จึงชอบแบ่งปันเคล็ดลับดีๆ ผ่านบทความต่างๆ ค่ะ