สาเหตุที่ทำให้ ผนัง บ้านแตก มีรอยร้าว
• การแตกร้าวที่มีลักษณะเป็นรอยแตกเล็กๆ โดยมากจะพบตามบริเวณ ผนัง ทั้งภายใน ภายนอก บริเวณเสา และบริเวณที่มีความเปียกชื้น รอยแตกเหล่านี้เกิดจากสภาพของปูนฉาบที่ผสมน้ำน้อยเกินไป ซึ่งเมื่อปูนเริ่มแข็งตัว จะเกิดปฏิกิริยาทางเคมี เกิดความร้อนสูง การผสมน้ำน้อยเกินไปทำให้ปูนฉาบไม่สามารถถ่ายเทความร้อนได้ จึงเกิดการแตกที่ผิวปูนฉาบ เรียกกันว่า “แตกลายงา”
• รอยร้าวตามที่ต่างๆ บอกอะไรเราบ้าง
บ้าน…คือสิ่งปลูกสร้างที่อยู่กับเราไปตลอดชีวิต ถ้าเปรียบบ้านเหมือนกับคนแล้วนั้น คนยังมีแก่มีเจ็บ บ้านก็เช่นกัน ต้องมีทรุดโทรมไปตามกาลเวลา หากเราละเลยและไม่หมั่นตรวจเช็คว่ามีส่วนไหนที่เราสามารถซ่อมแซมได้ ก็ควรทำตั้งแต่เนิ่นๆ ดีกว่าปล่อยไว้ไม่ดูแลรักษา อีกอย่างหนึ่งที่เป็นปัญหาสำหรับทุกบ้านนั่นก็คือ การแตกร้าวของบ้านนั่นเอง วันนี้เราจะพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับสาเหตุที่บ้านร้าวว่าเกิดจากอะไรบ้าง ตาม Gurubaan ไปดูกันเลยค่ะ
การแตกร้าวของผนังบ้าน สาเหตุเกิดจากอะไร?
การแตกร้าวของผนังอาคาร เป็นอาการที่พบบ่อยกับบ้านที่ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้าง คือ อิฐ, หิน, ปูน, ทราย, น้ำ และสภาพอากาศ ระหว่างปฏิบัติการก่อสร้าง ตลอดจนการทรุดตัวของพื้นดิน โดยปกติจะเกิดขึ้นในลักษณะต่างกันไป ดังนี้
1.การแตกร้าวที่เกิดจากปฏิกิริยาเคมี และงานฝีมือ
การแตกร้าวที่มีลักษณะเป็นรอยแตกเล็กๆ โดยมากจะพบตามบริเวณผนังทั้งภายใน ภายนอก บริเวณเสา และบริเวณที่มีความเปียกชื้น รอยแตกเหล่านี้เกิดจากสภาพของปูนฉาบที่ผสมน้ำน้อยเกินไป ซึ่งเมื่อปูนเริ่มแข็งตัวจะเกิดปฏิกิริยาทางเคมี เกิดความร้อนสูง การผสมน้ำน้อยเกินไปทำให้ปูนฉาบไม่สามารถถ่ายเทความร้อนได้ จึงเกิดการแตกที่ผิวปูนฉาบ ซึ่งเรียกกันว่า “แตกลายงา” แต่รอยร้าวประเภทนี้ไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้างของอาคาร จะมีผลเฉพาะความสวยงามของอาคารเท่านั้น หากเป็นรอยแตกที่ไม่ลึกก็สามารถแก้ไขได้โดยใช้สารเคมี (DAP) ช่วยประสานรอยต่อ แล้วจึงใช้สีทาเก็บความเรียบร้อยอีกครั้ง การแตกแบบนี้อาจมาจากสภาพภูมิอากาศ ซึ่งการแก้ไขก็ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
2.การแตกร้าวที่เกิดจากการประสานตัวของผนังปูน กับวัสดุอื่นๆ
การแตกร้าวที่เป็นการแตกของผนัง บริเวณที่เป็นรอยต่อกับวงกบไม้ หรือ อลูมิเนียม ซึ่งรอยร้าวจะเป็นรอยแตกเล็กๆ ออกมาจากวงกบในแนวทแยง แนวดิ่ง และแนวนอน รอยแตกนี้อาจเกิดจากการยืดหดตัวของวัสดุ 2 ชนิด ขึ้นไป ซึ่งวัสดุแต่ละชนิดมีอัตราการยึดเกาะตัวไม่เท่ากัน ประกอบกับผนังอาคารภายนอกจะมีอุณหภูมิสูงกว่าผนังภายใน ดังนั้น การยืดหดตัวของผนังทั้ง 2 ด้าน จะมีการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เท่ากัน ทำให้เกิดการบิดตัว โดยเฉพาะไม้ จึงเกิดการแตกร้าวได้ วิธีการแก้ไขก็เป็นวิธีเดียวกันกับการแตกร้าวที่เกิดจากปฏิกิริยาเคมี และงานฝีมือ
3.การแตกร้าวที่เกิดจากงานโครงสร้างอาคาร
การแตกร้าวที่กินลึกเข้าไปในผนังจนมองเห็นอิฐที่ก่อไว้ภายในทั้ง 2 ด้าน และมีการแตกร้าวของโครงสร้าง (พื้น, เพดาน, เสา) ในบริเวณใกล้เคียง การแตกแบบนี้อาจเกิดจากส่วนของโครงสร้างอาคารโดยตรง เช่น เสาเข็ม, ฐานราก, คาน และการทรุดตัวของพื้นดินตามธรรมชาติ การแตกแบบนี้โดยปกติแล้วจะไม่ค่อยเกิดขึ้น แต่ถ้าเกิดขึ้นก็จำเป็นต้องใช้ วิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับด้านโครงสร้างเป็นผู้วิเคราะห์สาเหตุ และทางแก้ไข เพราะการแตกร้าวแบบนี้จะมีผลต่อการรับน้ำหนักในส่วนอื่นๆ ของตัวอาคาร
รอยร้าวต่างๆ เกิดจากปัญหาอะไรบ้าง?
1.รอยร้าวกลางคาน
ปัญหารอยร้าวกลางคาน เกิดจากการที่คานตัวนั้นต้องรับน้ำหนักมาก ทำให้คานเกิดการแอ่นตัวลง ส่งผลให้คอนกรีตปริแตกออกเป็นรอย ลักษณะเหมือนตัวยู (U) ล้อมคาน การแก้ไขเบื้องต้นให้ลองสำรวจสิ่งของที่อยู่เหนือบริเวณคาน หากมีสิ่งของที่มีน้ำหนักมากวางกดทับคานอยู่ ให้รีบเคลื่อนย้ายออกไปทันที
2.รอยร้าวแนวเฉียงกลางผนัง
รอยร้าวแนวเฉียงกลางผนังจะเกิดจากการที่เสาของบ้านในจุดใดจุดหนึ่งเกิดการทรุดตัวลง (สมมุติใน 1 ห้องมี 4 เสา อาจเป็นเสาที่ 3 ที่ทรุดตัวลง) ส่งผลให้ผนังเกิดรอยแตกร้าวขึ้น การแก้ไขเบื้องต้น ให้เฝ้าระวังรอยร้าวนี้ โดยวัดความกว้าง ความยาว ของรอยร้าว และจดบันทึกไว้ หากรอยร้าวไม่ลามต่อก็ยังไม่เป็นอันตรายมากนัก แต่หากรอยร้าวยังมีความกว้างและยาวลามต่อไปอย่างรวดเร็ว ต้องรีบปรึกษาวิศวกรโครงสร้างโดยด่วน
3.รอยร้าวแนวดิ่งบนผนัง
รอยร้าวในลักษณะนี้จะเกิดจากการแอ่นตัวของพื้น และคานที่อยู่เหนือผนังรองรับน้ำหนักไม่ไหว ส่งผลให้ผนังที่อยู่ติดกับโครงสร้างนั้นเกิดการแตกร้าว โดยลักษณะรอยร้าวมักเกิดขึ้นในบริเวณกลางผนังเป็นแนวดิ่งจากเพดาน หรือจากพื้น ยาวไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของความสูงผนัง การแก้ไขเบื้องต้น ให้รีบเคลื่อนย้ายของที่มีน้ำหนักมากออกไปจากบริเวณนั้นทันที
4.รอยร้าวบนเพดาน
รอยร้าวลักษณะนี้จะเกิดจากเพดานที่ไม่มีคาน โดยลักษณะรอยร้าวนั้น หากเพดานเป็นเหล็กเสริมสองทางจะเป็นรอยกากบาททะแยงมุมเข้าหาเสาทั้ง 4 มุม แต่หากเป็นเหล็กเสริมทางเดียวจะเป็นรอยร้าวเส้นตรงขนานกับคานด้านใดด้านหนึ่ง การแก้ไขเบื้องต้น ให้รีบเคลื่อนย้ายของที่มีน้ำหนักมากจากด้านบนออก และรีบปรึกษาวิศวกรโครงสร้างโดยด่วน
5.รอยร้าวในคาน ใกล้เสา
รอยร้าวลักษณะนี้จะเป็นรอยเฉียงๆ หากปลายคานที่เชื่อมต่อกับเสาทั้งสองด้านมีลักษณะเช่นนี้ ถือว่าเป็นสัญญาณเตือนภัยที่อันตรายมากเป็นอันดับต้นๆ เนื่องจากโครงสร้างของอาคารไม่สามารถรับน้ำหนักได้ไหว กำลังจะฉีกแยกออกจากกัน หากใครเจอรอยร้าวลักษณะดังกล่าวให้รีบปรึกษาวิศวกรโครงสร้างอย่างเร่งด่วน
เมื่อรู้เหตุผลการร้าวของบ้านแล้ว อย่าลืมสำรวจรอบบริเวณบ้านของท่านดูนะคะ ว่ามีรอยแตกร้าวตามที่เราบอกไปในข้างต้นหรือไม่ หากมีก็ไม่ควรปล่อยไว้เป็นเวลานาน ควรปรึกษาช่างหรือผู้รู้ให้เข้ามาแก้ไขและซ่อมแซมตามขั้นตอน เพราะบ้านเป็นสมบัติที่เราควรรักษา เพื่อจะได้อยู่กับเราอย่างยาวนานนั่นเองค่ะ
เรียบเรียงโดย : ลิ้นชัก
หนูเป็นเหมือนลิ้นชักกักเก็บความรู้และ พร้อมที่จะเปิดออกมาเพื่อบอกเคล็ดลับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจัดสวน ฮวงจุ้ย หรือเรื่องมุมต่างๆภายในบ้าน การตกแต่งแบบ DIY เพียงแค่คุณเปิดมัน ความรู้ต่างๆที่อยู่ภายในลิ้นชักก็จะค่อยๆผุดออกมา เพื่อคลายความสงสัยและเพิ่มไอเดียให้กับทุกคน