ข้อคิดก่อนซื้อ บ้านชั้นเดียว
- ใครที่กำลังมองหา บ้านชั้นเดียว ไว้ในครอบครอง Gurubaan จะมาแนะนำขั้นตอนการเตรียมความพร้อมก่อนตัดสินใจซื้อ เพราะการเตรียมตัวที่ดีจะช่วยให้คุณหมดปัญหาที่อาจตามมาในภายหลังนะคะ
เมื่อถึงช่วงหนึ่งของอายุ เชื่อว่าหลายคนคงอยากจะมีบ้านในฝันเป็นของตัวเองสักหลัง ประเภทของบ้านก็มีให้เลือกหลากหลาย ทั้งบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮ้าส์ คอนโดมิเนียม หรือที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในตอนนี้ก็คือ บ้านชั้นเดียว ด้วยราคาที่ไม่แพง สามารถควบคุมงบประมาณได้ สะดวกต่อการอยู่อาศัย การจะลงทุนซื้อบ้านสักหลัง เราควรมีการเตรียมความพร้อมที่ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงิน หรือสัญญาซื้อขาย เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจติดขัดระหว่างดำเนินการ Gurubaan จึงมีเคล็ดลับการเตรียมตัวสำหรับผู้ที่กำลังอยากจะซื้อบ้าน ควรพิจารณาจากปัจจัยใดบ้าง ตามไปดูกันค่ะ
สิ่งที่ควรคำนึงถึงเมื่อต้องการซื้อบ้าน
1.สำรวจความต้องการ
ผู้ซื้อจะต้องกำหนดความต้องการของตัวเองเสียก่อน ว่าต้องการบ้านแบบไหน ไม่ว่าจะเป็นบ้านแฝด บ้านเดี่ยว หรือทาวน์เฮ้าส์ หากเป็นบ้านชั้นเดียวที่คุณต้องการ ก็ต้องดูว่าต้องการให้บ้านมีขนาดเท่าไร ขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่ อีกทั้งรูปแบบของบ้านที่วาดฝันไว้ เช่น มีสระว่ายน้ำ ลานกว้างไว้ทำกิจกรรม หรือมีพื้นที่ทำสวนปลูกต้นไม้ ซึ่งบ้านแต่ละประเภทก็มีพื้นที่จัดสรรแตกต่างกันออกไป
ดังนั้น คุณควรสำรวจความต้องการเอาไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ แต่หากคุณต้องการประหยัดเงิน ก็เลือกซื้อบ้านมือสองที่ยังคงสภาพดีอยู่ เพราะผู้ซื้อมีโอกาสต่อรองราคาได้มากกว่าบ้านมือหนึ่ง ส่วนโครงการบ้านใหม่แทบไม่มีโอกาสต่อรองได้เลย ดังนั้น บ้านมือสองอาจเป็นทางเลือกที่ดีให้กับคุณก็ได้ แต่อย่าลืมตรวจเช็กสภาพความสมบูรณ์ของตัวบ้านให้ละเอียดด้วยนะคะ
2.ตั้งงบประมาณ
การตั้งงบประมาณในการเลือกซื้อบ้านสักหลัง คุณจะต้องกำหนดราคาคร่าวๆ ก่อนว่าไม่เกินราคาเท่าไร นอกจากงบที่วางไว้แล้ว จะต้องคำนวณความสามารถในการผ่อนชำระของตัวเองด้วย เพราะต้องแบกรับภาระหนี้สินในการผ่อนชำระต่อไปในอนาคตอีกนับสิบๆ ปี บางคนอาจถึง 30 ปีซะด้วยซ้ำ ยิ่งคุณซื้อบ้านที่มีราคาสูงเกิน อาจจะกลายเป็นทุกข์ ต้องทำงานหนักมากขึ้นเพื่อหาเงินมาส่งค่างวด โดยทั่วไปค่าผ่อนบ้านในอัตราที่เหมาะสม คือ 25% ของรายได้ และมากสุดไม่ควรเกิน 35% ของรายได้ ด้วยภาระที่หนักอึ้ง อาจส่งผลกระทบกับภาระหนี้สิน จนไม่มีเวลาได้พักผ่อน หรือได้ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านหลังนั้นเลยก็ได้
3.ทำเลที่ตั้ง
หลังจากประเมินค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตโดยไม่เดือดร้อนได้แล้ว ลำดับต่อมาคือ การมองหาทำเล โดยยึดความสะดวกของสมาชิกในครอบครัวเป็นหลัก เช่น ง่ายต่อการเดินทางไปทำงาน สถานศึกษา การจราจรไม่ติดขัด มีระบบขนส่งรองรับ สิ่งเหล่านี้จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และหากที่ตั้งบ้านอยู่ใกล้ห้างสรรพสินค้า หรือโรงพยาบาล ก็นับเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากขึ้นทีเดียวค่ะ เพราะสะดวกต่อการจับจ่ายใช้สอย หรือเข้ารักษาตัวเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน การเลือกทำเลที่ตั้งไม่ได้มีหลักเกณฑ์ตายตัวที่แน่ชัด แต่ใช้ความเหมาะสมต่อความต้องการ และวิถีชีวิตของสมาชิกในครอบครัวก็เข้ามามีส่วนช่วยในการพิจารณาซื้อบ้านในครั้งนี้ด้วยค่ะ
4.เลือกโครงการ
เมื่อได้ทำเลที่ต้องการแล้ว ผู้ซื้อต้องลงพื้นที่สำรวจว่าย่านนั้นๆ มีโครงการ หรือหมู่บ้านอะไรบ้าง โดยพิจารณาจากราคาที่เหมาะสม มีสาธารณูปโภค และสาธารณูปการที่ครบถ้วน เช่น ถนน ท่อระบายน้ำ ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายการจัดสรรที่ดินกำหนด มีสิ่งอำนวยความสะดวกในโครงการ เช่น สระว่ายน้ำ สวนสาธารณะ สปอร์ตคลับ ฯลฯ ทั้งนี้ อย่าลืม! ตรวจสอบสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกของโครงการ ว่าเหมาะสมกับการอยู่อาศัยของสมาชิกในครอบครัวหรือไม่ คุณควรคำนึงถึงความน่าเชื่อถือของบริษัท หรือเจ้าของโครงการ ว่ามีประสบการณ์ในการพัฒนาโครงการมากน้อยเพียงใด โดยพิจารณาจากประวัติ ชื่อเสียง และผลงานในอดีต เพื่อเป็นเครื่องการันตีขั้นต้น ว่าผู้ซื้อจะได้บ้านที่มีมาตรฐานค่ะ
5.การทำสัญญาซื้อขาย
ก่อนทำสัญญาซื้อหรือวางเงินมัดจำ ผู้ซื้อจะต้องตรวจสอบสำเนาโฉนดทั้งด้านหน้าและด้านหลัง รวมถึงตรวจสอบทะเบียนบ้านเพื่อยืนยันสิทธิ์ของเจ้าของบ้าน หรือเจ้าของที่ดินเดิมเสียก่อน ทั้งนี้ เรื่องการวางเงินมัดจำต้องขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย โดยเงื่อนไขต่างๆ จะต้องมีระบุไว้ในเอกสารสัญญาอย่างชัดเจน ในกรณีที่กู้ซื้อบ้านกับสถาบันการเงิน ต้องถ่ายสำเนาโฉนดเพื่อยื่นให้ทางธนาคารตรวจสอบ และพิจารณาในการขอกู้ หากทำเรื่องกู้ผ่านแล้วค่อยดำเนินการติดต่อซื้อขาย หากไม่ทำเช่นนี้ เมื่อผู้ซื้อเกิดกู้ไม่ผ่านอาจจะถูกยึดเงินมัดจำในขั้นตอนของการทำสัญญาได้ หลังจากนั้นควรเว้นระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ก่อนทำสัญญาซื้อขาย เพื่อตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับภาระค่าใช้จ่ายที่เจ้าของที่ดิน หรือเจ้าของโครงการเดิมมีพันธะผูกพัน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีผลกระทบมาถึงตัวเรา
เมื่อทำสัญญาซื้อขายเสร็จสิ้นแล้ว ผู้ซื้อจะต้องถ่ายสำเนาเอกสารทั้งหมด อาทิ หนังสือสัญญา สำเนาโฉนด ฯลฯ ทั้งของผู้ซื้อและผู้ขาย เพื่อนำไปทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินต่างๆ ในการติดต่อยื่นขอสินเชื่อ จากนั้นสถาบันการเงินจะนัดวัน เวลา เพื่อไปทำการประเมินราคาบ้าน และรอเวลาอนุมัติต่อไปค่ะ
6.การขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านมีอัตราที่ถูกมาก เมื่อเทียบกับเงินกู้ประเภทอื่นๆ นอกจากนี้การกู้เงินเพื่อซื้อบ้านยังมีโอกาสได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีอีกด้วยนะคะ หากคุณกู้ได้มากก็จะยิ่งดี เพราะไม่ต้องใช้เงินสดเป็นก้อนในการซื้อบ้าน ส่วนการขอสินเชื่อกู้ซื้อ ผู้ซื้อควรศึกษาให้ดีเสียก่อนว่าสถาบันการเงินที่เราจะกู้นั้นใช้เอกสารสำคัญอะไรบ้าง เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน หรือหลักฐานอื่นเพิ่มเติม หากเตรียมเอกสารไม่ครบ คุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์ จะมีผลทำให้คุณไม่ผ่านการอนุมติได้ค่ะ ดังนั้น ธนาคารจะงดพิจารณาสินเชื่อของคุณเป็นเวลา 6 เดือน ทำให้คุณไม่สามารถยื่นขอสินเชื่อใหม่ได้ ไม่ต้องตกใจค่ะ มองหาสถาบันการเงินแหล่งเงินกู้ใหม่ จนกว่าคุณจะผ่านการพิจารณา
สำหรับข้อคิดก่อนจะตัดสินใจซื้อบ้านที่เราได้กล่าวไปข้างต้น เป็นสิ่งที่ผู้ซื้อควรนำมาใช้เป็นหลักในการพิจารณา หากตัดสินใจเลือกซื้อบ้านกับโครงการไหน อย่าลืมขอของแถม เช่น เครื่องปรับอากาศ ชุดห้องนั่งเล่น เผื่อได้อะไรพิเศษติดไม้ติดมือกลับมาบ้าง ซึ่งจะช่วยให้คุณประหยัดค่าใช้จ่ายได้บางส่วน แต่ถ้าคุณเลือกซื้อ บ้านชั้นเดียว ทาวน์เฮ้าส์ หรือบ้านมือสอง ถึงแม้ว่าคุณจะได้บ้านในราคาถูก ต้องตรวจเช็กสภาพความสมบูรณ์ของบ้าน และประวัติของบ้านให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจซื้อนะคะ
นามปากกา เสาเข็ม
สาว สวย สูง สุดสตรอง จิตใจหนักแน่น แข็งแกร่ง เปรียบเสมือนเสาเข็มของบ้าน รากฐานบ้านที่คงทน ต้องอาศัยความมั่นคงของเสาเข็ม