เรื่องสำคัญในการทำประกันภัย ถ้าไม่อยากเสียรู้

586
ประกันภัย บ้าน

เรื่องที่ควรรู้ก่อนทำ ประกันภัย

ในปัจจุบันการขอสินเชื่อกู้บ้านจะต้องเจอกับพนักงานเสนอขายกรมธรรม์ ประกันภัย ที่พ่วงมาเป็นเงื่อนไขในการอนุมัติสินเชื่อจากธนาคาร แล้วราคาของประกันก็ถือว่าสูงมากและจ่ายในงวดเดียวซึ่งทำให้ใครหลายคนต่างร้องไม่ออกทำไดเพียงสงสัยจนเกิดคำถามว่าทำไมต้องทำ ทำแล้วได้อะไร ซึ่งโดยปกติแล้ว ประกันภัยบ้าน ที่พ่วงมากับสินเชื่อเพื่อบ้านจะมีอยู่เพียง 3 ประเภทเท่านั้น คือ ประกันอัคคีภัย ประกันภัยพิบัติ และประกันที่คุ้มครองหลักทรัพย์ ข้อดีของมันและการคุ้มครองมีอะไรบ้างเราไปดูกันดีกว่าค่ะ

ประกันภัยบ้าน

ประเภทของประกันภัย
1.ประกันอัคคีภัย คือการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินต่างๆของผู้เอาประกันภัยไม่ว่าจะเป็น สังหาริมทรัพย์ หรือ อสังหาริมทรัพย์ ทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่าง ที่อาจเกิดความสูญเสียหรือเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้เป็น ส่วนมากการทำประกันภัยมักทำเป็นระยะเวลาสั้น ๆ แต่ต้องทำเป็นประจำ เช่น ทุกปี หรือทุก 2-3 ปี ยิ่งเลือกระยะเวลาในการประกันที่มากค่าเบี้ยประกันจะยิ่งถูกลง เบี้ยประกันของประกันอัคคีภัยไม่ได้กำหนดตายตัวว่าต้องเป็นเท่าไร จะขึ้นอยู่กับบริษัทประกันและลักษณะอาคาร แต่ส่วนใหญ่แล้วสำหรับบ้านเดี่ยวจะไม่เกิน 0.1% เป็นประกันภัยซึ่งกฎหมายบังคับให้บ้านใหม่ทุกหลังต้องทำ

โดยมีขอบเขตความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยมาตรฐานมีดังนี้
– เพลิงไหม้ ไม่ว่าจะเกิดจากการระเบิดหรือไม่ก็ตาม
– ฟ้าผ่า จะต้องเป็นการเสียหายที่เกิดขึ้นจากฟ้าผ่าโดยตรงเท่านั้นและไม่จำเป็นต้องมีไฟไหม้
– การระเบิดของแก๊สที่ใช้สำหรับทำแสงสว่าง หรือประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัยเท่านั้น เช่น แก๊สหุงต้ม (ไม่ใช่เพื่อการค้าหรืออุตสาหกรรม)
– ความเสียหายที่เกิดจากน้ำหรือวัตถุเคมีที่ใช้ในการดับเพลิง
– ความเสียหายอันเกิดจากเจ้าหน้าที่ดับเพลิง เช่น การพังบ้านหรือการกระทำใดๆ เพื่อการดับเพลิง และป้องกันไม่ให้ไฟขยายตัวและลุกลาม
– ความเสียหายจากควัน เขม่า อันเนื่องมาจากการเกิดอัคคีภัย

ประกันภัย บ้าน

2.ประกันภัยพิบัติ จะให้ความคุ้มครองภัยพิบัติ 3 ภัย ได้แก่ ภัยน้ำท่วม ภัยแผ่นดินไหว และภัยลมพายุ ทั้งนี้คำจำกัดความของคำว่า “ภัยพิบัติ” หมายถึง ภัยธรรมชาติที่เข้าลักษณะความรุนแรงถึงขั้นเป็นภัยพิบัติดังนี้
– คณะรัฐบาลประกาศสถานการณ์ภัยพิบัติรุนแรง ตามคำแนะนำของกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย
– กรณีค่าสินไหมทดแทนรวมของผู้เอาประกันภัย ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยพิบัติมากกว่า 5,000 ล้านบาท ต่อหนึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายใน 60 วัน โดยมีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่2 รายขึ้นไป
-กรณีธรณีพิบัติ ความรุนแรงของแผ่นดินไหวตั้งแต่ 7 ริกเตอร์ขึ้นไป
– กรณีวาตภัย ความเร็วของลมพายุตั้งแต่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป

ประกันภัยพิบัติจะไม่ครอบคลุมบ้านในพื้นที่ซึ่งถูกกำหนดไว้ว่าเป็นพื้นที่รองรับน้ำ พื้นที่กักเก็บน้ำ หรือทางน้ำผ่าน ซึ่งได้รับความช่วยเหลือโดยตรงจากภาครัฐอยู่แล้ว ประกันภัยพิบัติสำหรับบ้านอยู่อาศัย จะต้องเสียเบี้ยประกัน 0.5% ของราคาบ้านต่อปี เป็นประกันที่รัฐบาลไม่ได้บังคับ จะทำหรือไม่ทำก็ได้

3.ประกันคุ้มครองหลักทรัพย์ TMRA คือประกันชีวิตที่ทำขึ้นสำหรับการคุ้มครองบ้านหรือที่ดินสำหรับผู้ขอสินเชื่อในการซื้อบ้าน หากเจ้าของบ้านที่กู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินมาซื้อบ้านแล้วเกิดเสียชีวิตหรือสูญเสียความสามารถในการชำระหนี้สินให้ครบก่อนสัญญา บริษัทประกันภัยจะเป็นผู้ชดใช้หนี้สินในส่วนที่เหลือให้กับธนาคารผู้ปล่อยกู้เอง ถือว่าเป็นการประกันอนาคตของครอบครัวผู้ขอสินเชื่อและประกันความเสี่ยงให้กับทางธนาคารไปในเวลาเดียวกัน เบี้ยประกันจะขึ้นอยู่กับราคาประเมินของหลักประกันหรือสินทรัพย์ซึ่งแต่ละบริษัทประกันภัยจะกำหนดไว้ไม่เท่ากัน ส่วนมากจะไม่เกิน 5.5% เป็นประกันระยะยาวที่จ่ายเป็นครั้ง อาจจะเพียง 3 ปี หรือตลอดอายุการกู้ยืมก็ได้  สำหรับประกันชนิดนี้เป็นประกันที่รัฐบาลไม่ได้บังคับให้ทำ ดังนั้นจะทำหรือไม่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้เอาสินเชื่อเอง แต่การที่กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ ตรงกันข้ามประกันประเภทนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้มีรายได้น้อยและเป็นเรี่ยวแรงหลักของครอบครัว เพราะตามที่ได้กล่าวกันมาแล้วว่าช่วยใช้หนี้ให้ทั้งหมดในกรณีที่ผู้กู้เสียชีวิตหรือพิการ ภาระในการผ่อนบ้านก็จะไม่ตกไปอยู่กับครอบครัว

การทำประกันเป็นเรื่องของการป้องกันความเสี่ยง วัตถุประสงค์ของการทำประกันภัยนั้น คือการป้องกันความเสี่ยงที่เกิดจากอัคคีภัย ประกันภัยพิบัติหรือแม้กระทั่งประกันคุ้มครองหลักทรัพย์ ดังนั้นเราจะต้องพิจารณาให้ดีถึงวัตถุประสงค์ที่เราต้องการจะทำประกันเสียก่อน เพราะประกันนั้นจะคุ้มค่าที่สุดเมื่อเกิดความเสี่ยงที่ไม่คาดคิด เช่น การเสียชีวิต หรือทรัพย์สินเสียหาย ข้อดีของการทำประกันนั้นอยู่ที่ “ความคุ้มครอง” นั่นเองค่ะ และการซื้อประกันภัยแต่ละครั้ง ผู้ซื้อประกันควรศึกษารายละเอียดการคุ้มครองของประกันให้ดีก่อนที่จะลงมือเซ็นต์สัญญานะคะ

ขอบคุณเนื้อหาบางส่วน ที่เป็นแรงบันดาลใจ ในการเขียนบทความ จาก smk.co.th และ kapook.com

ประกันภัย บ้าน