วิธีป้องกัน ไฟช็อต
• การป้องกัน ไฟช็อต สามารถทำได้โดยการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีมาตรฐาน ไม่เสียบปลั๊กพ่วงมากเกินไป หรือการติดตั้งสายดินก็เป็นตัวช่วยที่ดี ลดอัตราเสี่ยงต่อการถูกไฟดูดได้มากเช่นกัน
ปัญหากระแสไฟฟ้ารั่วเกิดขึ้นได้กับทุกบ้าน หากไม่หมั่นตรวจสอบอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ ผู้อยู่อาศัยจึงเสี่ยงต่อการโดนไฟดูด ไฟช็อต กันเป็นแถว หากปล่อยปละละเลยคงไม่ดีต่อชีวิต และทรัพย์สินของคุณแน่ค่ะ จริงๆ แล้ววิธีป้องกันไฟฟ้าดูดนั้นสามารถทำได้ง่ายแสนง่าย เพียงคุณปฏิบัติตามคำแนะนำที่ Gurubaan นำมาฝาก ความเสี่ยงในการถูกไฟฟ้าดูดก็จะลดน้อยลงไปค่ะ
1.เลือกปลั๊กพ่วงที่ได้มาตรฐาน
ปลั๊กไฟพ่วงที่ดีจะต้องมีสายไฟ และเต้าเสียบที่ใช้วัสดุไม่ติดไฟ ควรเลือกยี่ห้อที่มีเครื่องหมาย มอก. (มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม) ที่สำคัญควรเขย่าเพื่อฟังเสียงเบื้องต้น ถ้ามีเสียงตอนเขย่าอาจเป็นสาเหตุจากตะกั่วบัดกรีหลุดออกมา หากนำมาใช้งานอาจทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
2.การติดตั้งสายไฟ
ต้องไม่อยู่ใกล้แหล่งความร้อน สารเคมี หรือถูกของหนักทับ เพราะจะทำให้ฉนวนหุ้มสายชำรุดได้ง่าย สายไฟฟ้าต้องไม่พาดบนโครงเหล็ก รั้วเหล็ก ราวเหล็ก หรือส่วนที่เป็นโลหะต่างๆ ควรกำหนดและวางแนวการติดตั้งสายไฟให้พ้น หรือห่างไกลจากทางเดิน
3.ตรวจสอบอุปกรณ์อยู่เสมอ
หมั่นตรวจเช็คสายไฟอย่างสม่ำเสมอ สภาพสายไฟฟ้าเก่าหรือหมดอายุการใช้งาน สังเกตได้จากฉนวนที่มีการแตก บวม แห้งกรอบ การชำรุดของฉนวนสายไฟฟ้าอาจเกิดจากหนู หรือแมลงกัดแทะ ถูกของมีคมบาด วางของหนักทับ เดินสายไฟฟ้าใกล้แหล่งความร้อน เป็นต้น หากเกิดการชำรุดเสียหายของอุปกรณ์ หรือสายไฟ ควรรีบทำการซ่อมแซมแก้ไขโดยด่วนก่อนจะเกิดอันตรายตามมาในภายหลัง
4.ถ้าคุณไม่ใช่ช่างไฟอย่าซ่อมเอง
อย่าทำการซ่อมแซมเครื่องใช้และอุปกรณ์ไฟฟ้าด้วยตนเองเป็นอันขาด หากไม่มีอุปกรณ์ในการตรวจสอบและซ่อมแซม ตลอดจนไม่มีความรู้ทางด้านช่างไฟฟ้ามาก่อน เพราะมันเสี่ยงต่อการที่คุณจะถูกไฟดูดได้ค่ะ
5.ไม่เสียบปลั๊กมากเกิน
ไม่ควรใช้ปลั๊กไฟตัวเดียว หรือเต้าเสียบเพียงช่องเดียว เสียบปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชนิด ควรมีการแบ่งและกระจายการใช้งาน ไม่รวมอยู่ในจุดเดียวกันมากเกินไป อาจทำให้เกิดความเสี่ยงของการเกิดไฟฟ้ารั่ว และส่งผลให้ผู้ใช้งานถูกไฟฟ้าดูดได้
6.มือเปียกไม่จับ
เมื่อมือของคุณเปียกชื้น หรือแม้กระทั่งขณะยืนอยู่บนน้ำ ห้ามแตะต้องอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าเด็ดขาด เพราะกระแสไฟฟ้าสามารถไหลผ่านมาสู่ร่างกายเราได้อย่างสะดวก และรวดเร็ว ซึ่งอันตรายต่อชีวิตอย่างยิ่ง
7.ติดตั้งสายดิน
เราควรให้ความสำคัญกับสายดินด้วยนะคะ เพราะการต่อสายดินเข้ากับเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นการนำไฟฟ้าลงสู่ดิน โดยเฉพาะเครื่องทำน้ำอุ่น เนื่องจากอยู่ใกล้น้ำและอาจเกิดอันตรายจากการใช้งานได้อย่างชัดเจนที่สุด
8.ติดตั้งเครื่องตัดไฟ
การติดตั้งอุปกรณ์สำหรับป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรภายในบ้านเรือน ก็เพื่อป้องกันภัยไฟฟ้าดูด หรือลัดวงจร ลดอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น ตลอดจนช่วยรักษาความปลอดภัยของร่างกาย และทรัพย์สินของคุณอีกด้วย
9.ใส่รองเท้าเสมอ
อย่ากลัวว่าการใส่รองเท้าเดินไปมาในบ้านจะทำให้บ้านสกปรก เพราะการใส่รองเท้าสามารถป้องกันไฟฟ้าที่อาจรั่วไหลจากอุปกรณ์ไฟฟ้ามาสู่ตัวคุณได้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั่งตู้เย็น ซื้อรองเท้าสำหรับเดินในบ้าน (Slipper) ติดไว้ก็จะดีมากค่ะ
การใช้ประโยชน์จากไฟฟ้าควรใช้งานอย่างระมัดระวัง และต้องเรียนรู้วิธีการป้องกันที่ถูกต้อง ควรเลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้รับมาตรฐาน และไม่นำตัวเองไปอยู่ในที่ที่มีความเสี่ยงต่อการรั่วไหลของกระแสไฟ หากคุณทำตามคำแนะที่เราบอกไป ก็จะช่วยลดอัตราเสี่ยงจากการถูกไฟฟ้าดูดได้ค่ะ
เรียบเรียงโดย : เสาเข็ม
สาว สวย สูง สุดสตรอง จิตใจหนักแน่น แข็งแกร่ง เปรียบเสมือนเสาเข็มของบ้าน รากฐานบ้านที่คงทน ต้องอาศัยความมั่นคงของเสาเข็ม แต่เรื่องงานบ้านเดิมที่ทำไม่ค่อยถนัด แต่อาศัยศึกษาจากคนนู้นที คนนี้ที พอมีความรู้หน่อยก็เลยอยากบอกต่อค่ะ