ข้อดี-ข้อเสีย บ้านชั้นเดียว
- หาก บ้านชั้นเดียว เป็นหนึ่งในตัวเลือกบ้านหลังใหม่ของคุณ เรามาดูกันดีกว่าค่ะ ว่าบ้านประเภทนี้มีจุดเด่นและจุดด้อยอย่างไรบ้าง ทาง Gurubaan ได้รวบรวมข้อมูลมาไว้ให้คุณแล้วค่ะ
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่วางแผนจะสร้าง บ้านชั้นเดียว แล้วละก็ อันดับแรกเลยคุณต้องทำความเข้าใจก่อนว่า รูปแบบบ้านประเภทนี้มีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง เหมาะกับคุณและสมาชิกในครอบครัวมากน้อยแค่ไหนดังนั้น เพื่อช่วยให้คุณตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เราจึงได้รวบรวมจุดเด่นและจุดด้อยของบ้านชั้นเดียวมาฝากกันค่ะ
จุดเด่น
1.เดินสะดวก
เนื่องด้วยบ้านชั้นเดียวถูกออกแบบมาให้ทุกห้องอยู่ชั้นเดียวกันหมด ไม่ว่าจะเป็น ห้องนั่งเล่น ห้องครัว ห้องนอน ฯลฯ จึงทำให้การเดินไปไหนมาไหนภายในบ้านเกิดความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องคอยขึ้นลงบันไดบ่อยๆ เช่น เมื่อคุณหิวน้ำขึ้นมากลางดึก ต้องลงบันไดมายังห้องครัว ถ้าไม่ทันระวังจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ หรือการขึ้นลงบันไดเป็นประจำ อาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องสุขภาพข้อเข่า แถมยังต้องเสียเงินค่ารักษา ปัญหาดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นกับผู้ที่อาศัยในบ้านชั้นเดียวแน่นอนค่ะ
2.เหมาะกับผู้สูงอายุ
เมื่อครอบครัวของคุณมีกลุ่มคนหลากหลายอายุ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หรือผู้พิการ การเดินขึ้นลงบันไดนั้นอาจจะทำให้มีปัญหาเรื่องความไม่สะดวก โดยเฉพาะกับผู้สูงวัย ผู้ป่วยที่ต้องใช้วีลแชร์เคลื่อนที่ไปยังห้องต่างๆ ภายในบ้าน ส่วนเด็กเล็กนั้นเป็นวัยที่กำลังซุกซน หากคุณเผลอไม่ทันระวัง เด็กอาจจะปีนป่ายบันไดทำให้ตกลงมาได้รับบาดเจ็บได้
3.ง่ายต่อการทำความสะอาด
หากคุณมีบ้านหลังใหญ่หลายชั้น การทำความสะอาดจึงเป็นภาระอันหนักอึ้งของสมาชิกภายในบ้าน คุณอาจจะต้องใช้เวลาทำความสะอาดนานพอสมควร ถ้าต้องทำความสะอาดคนเดียวแล้วละก็ มีหวังสลบก่อนทำเสร็จแน่ๆ แต่ถ้าเป็นบ้านชั้นเดียว การทำความสะอาดง่ายมาก เพราะไม่ต้องคอยยกของขึ้นลง ปัดกวาดถูแป๊บเดียวก็เสร็จ หากจะต้องซ่อมบำรุงส่วนต่างๆ ของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นทาสีซ่อมแซม ทำความสะอาดผนังภายนอก หรือการเปลี่ยนหลังคา ก็ทำได้ง่าย ไม่ต้องคอยปีนบันไดสูงๆ และไม่ต้องกังวลเรื่องอุบัติเหตุตกจากที่สูง
4.ประหยัดงบประมาณ
การมีบ้านเพียงแค่ชั้นเดียว แน่นอนว่าคุณสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างได้มาก เนื่องด้วยการวางโครงสร้างที่ไม่ซับซ้อน ใช้วัสดุน้อยกว่าบ้านหลายชั้นเกือบเท่าตัว บ้านที่มีหลายชั้นก็จะมีค่าตกแต่งเพิ่มขึ้น ทั้งค่าสี วอลเปเปอร์ หรือผ้าม่าน ซึ่งการเลือกบ้านชั้นเดียวจะทำให้คุณประหยัดส่วนนี้ไปได้มาก สไตล์การตกแต่งบ้านก็ง่ายๆ ไม่ต้องคิดมากให้ปวดหัว ว่าของที่นำมาตกแต่งจะเข้ากับสไตล์บ้านไม่ได้
5.เกิดปฏิสัมพันธ์ที่ดี
สิ่งที่สัมผัสได้ของครอบครัวที่มีบ้านตั้งแต่สองชั้นขึ้นไป คือ คนในบ้านไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กัน สาเหตุนั้นมาจากต่างคนต่างต้องการความเป็นส่วนตัว ใช้ชีวิตอยู่แต่ในห้อง จะเห็นกันก็ตอนกินข้าว ไม่อยากเดินขึ้นลงบันไดบ่อยๆ ลองคิดเล่นๆ ว่าถ้าบ้านของเรามี 3 ชั้น และต้องเดินขึ้นลงอยู่ตลอดเวลา มันจะเหนื่อยแค่ไหน ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้จะไม่เกิดขึ้นกับครอบครัวที่มีบ้านชั้นเดียว จะเดินไปหยิบอะไรก็ทำได้ง่าย แถมเจอหน้ากันบ่อยๆ ถ้าคุณออกแบบให้มีพื้นที่ใช้สอยบริเวณกลางบ้าน ก็จะทำให้สมาชิกในครอบครัวทำกิจกรรมร่วมกันได้สะดวก และทำให้คนในบ้านมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้นด้วย
6.การต่อเติมในภายหลัง
ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องขยายห้อง คุณสามารถต่อเติมได้ด้วยการขยายห้องจากด้านข้างของบ้าน เนื่องด้วยโครงสร้างของบ้านชั้นเดียว มีความเหมาะสมที่จะทำการต่อเติมมากกว่าบ้านสองชั้นที่มีโครงสร้างที่ซับซ้อนกว่า แต่หากคุณจะเปลี่ยนบ้านชั้นเดียวให้กลายเป็นบ้านสองชั้น น่าจะเป็นเรื่องยากอยู่สักหน่อย เพราะต้องจ้างวิศวกรมาคำนวณโครงสร้างหรือเสาเข็ม ว่าสามารถรับน้ำหนักได้มากน้อยแค่ไหน จริงๆ การต่อเติมด้วยการขยายพื้นที่เพิ่มจากด้านข้างของตัวบ้าน ก็น่าจะเพียงพอต่อการใช้งานแล้ว
จุดด้อย
1.ใช้พื้นที่มาก
การสร้างบ้านชั้นเดียวจะต้องใช้ที่ดินมากกว่าการปลูกบ้านสองชั้น จึงจะได้จำนวนห้องที่พอดีต่อการใช้งาน ซึ่งคุณอาจจะต้องเสียเงินค่าซื้อที่ดินเพิ่มมากขึ้น และถ้าซื้อที่ดินในกรุงเทพฯ มีหวังกระเป๋าฉีกแน่นอน แต่หากซื้อที่ดินต่างจังหวัด ก็จะช่วยประหยัดเงินไปได้มากค่ะ ดังนั้น การจะสร้างบ้านสักหลัง อย่าลืมคำนึงถึงขนาดพื้นที่เป็นหลักก่อนลงมือสร้างนะคะ เพื่อให้มีพื้นที่พอเพียงต่อการใช้สอยนั่นเอง
2.ปัญหาความร้อน
เนื่องด้วยสภาพอากาศที่ร้อนจัดของประเทศไทย โครงสร้างส่วนเพดาน และหลังคาบ้านจึงเกิดการสะสมความร้อนเอาไว้ และแผ่ความร้อนไปยังห้องต่างๆ ได้ง่าย ถ้าอยากให้บ้านหายร้อนก็ไม่ใช่เรื่องยากค่ะ คุณแค่ติดฉนวนกันความร้อน แผ่นสะท้อนความร้อน หรือเปิดช่องหลังคาเพื่อระบายอากาศ เท่านี้บ้านของคุณก็เย็นขึ้นแล้วค่ะ แต่การติดวัสดุกันความร้อนทั้งหมดนี้ ก็จะมีงบประมาณที่เพิ่มขึ้นมาด้วยนะคะ
3.ปัญหาน้ำท่วมและความชื้น
เนื่องจากบ้านชั้นเดียวมีการปลูกสร้างยกสูงไม่ห่างจากพื้นดินเท่าไรนัก จึงอาจเสี่ยงกับปัญหาน้ำท่วมบ้านได้ พูดกันง่ายๆ ก็คือ น้ำท่วมเมื่อไรก็เผ่นลูกเดียว เพราะไม่มีชั้นสองให้นอนพัก นอกจากนั้นยังมีเรื่องความชื้นของดิน ที่จะส่งผลเสียต่อโครงสร้างของบ้าน ทำให้เกิดปัญหาเรื่องปลวกและเชื้อรา ซึ่งเกิดจากการดูดซึมความชื้นขึ้นมาจากผืนดิน วิธีแก้ไขคือ ต้องสร้างบ้านในลักษณะที่ยกสูงห่างจากพื้นดินประมาณ 1-1.5 เมตร จึงจะช่วยลดปัญหาดังกล่าวลงได้ค่ะ
4.พื้นที่ใช้สอยน้อย
ด้วยพื้นที่ใช้สอยอันจำกัดของตัวบ้าน ที่ถูกแบ่งห้องแบ่งโซนไว้เป็นที่เรียบร้อย หากมีญาติมาเยี่ยม หรือมาขออาศัยอยู่ด้วย จะไม่มีห้องสำหรับรองรับแขกเลย แม้กระทั่งพื้นที่สำหรับเก็บซ่อนของก็แทบจะไม่มี และด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้หลายคนมองข้ามแบบบ้านประเภทนี้ไป ฉะนั้น ตอนวางแปลนบ้านอาจจะต้องเผื่อจำนวนห้องไว้รับแขกบ้างก็ดีนะคะ
สำหรับการสร้าง บ้านชั้นเดียว เหมาะกับผู้ที่ชื่นชอบบรรยากาศของความอบอุ่น เนื่องด้วยลักษณะบ้านที่มีห้องอยู่รวมกันในชั้นเดียว ทำให้คนในบ้านพบปะกันได้สะดวก ซึ่งรวมไปถึงผู้ป่วยที่ใช้วีลแชร์ด้วยค่ะ เพราะเขายังเดินไปยังห้องต่างๆ ได้เองโดยไม่ต้องกังวลเรื่องการขึ้นลงบันได แต่ข้อเสียที่เห็นได้ชัด คือ เมื่อเกิดเหตุน้ำท่วม คุณจะไม่มีที่ไว้สำหรับเก็บข้าวของ ซึ่งอาจทำให้ทรัพย์สินเสียหายได้ เราหวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่กำลังคิดอยากสร้างบ้านไม่มากก็น้อยนะคะ
นามปากกา เสาเข็ม
สาว สวย สูง สุดสตรอง จิตใจหนักแน่น แข็งแกร่ง เปรียบเสมือนเสาเข็มของบ้าน รากฐานบ้านที่คงทน ต้องอาศัยความมั่นคงของเสาเข็ม