เรื่องที่ควรรู้ก่อนออกแบบบ้านชั้นเดียว

1344
บ้านชั้นเดียว การออกแบบ

เรื่องที่ควรรู้ก่อนออกแบบ บ้านชั้นเดียว

  • อยากจะสร้าง บ้านชั้นเดียว สักหลังเป็นของตัวเอง สิ่งสำคัญที่นอกเหนือจากเงินทุนแล้ว การเตรียมความพร้อมที่ดีในการออกแบบบ้านให้ตรงตามความต้องการ เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดระหว่างการก่อสร้าง เราควรเสริมความรู้เรื่องของการมีบ้านอย่างไรดี

การจะสร้างบ้านสักหลังนั้นไม่ใช่เรื่องยาก หากคุณมีเงินทุนเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็น บ้านชั้นเดียว บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ฯลฯ ก็สามารถเลือกรูปแบบบ้านได้ตามใจชอบ สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม คือ การเตรียมความพร้อมในเรื่องเอกสาร หรือการว่าจ้างบริษัทรับออกแบบและสร้างบ้าน เพื่อให้บ้านของคุณสร้างเสร็จราบรื่น ไม่ติดขัด หรือเกิดปัญหาตามมาในภายหลัง วันนี้ Gurubaan ได้นำข้อควรรู้ก่อนสร้างบ้านมาฝากเพื่อนๆ ทุกคนค่ะ

บ้านชั้นเดียว การออกแบบ

1.กำหนดรูปแบบบ้าน

ปัจจุบันมีบริษัทรับออกแบบ และก่อสร้างบ้านเป็นจำนวนมาก สามารถปรึกษาข้อสงสัยต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ บ้านชั้นเดียว บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ หรือบ้านแฝด อีกทั้งสไตล์ของบ้านก็มีให้เลือกมากมาย เช่น สไตล์โมเดิร์น สไตล์เมดิเตอร์เรเนียน ฯลฯ นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงขนาด และจำนวนห้องให้พอดีกับสมาชิกในครอบครัว เพราะคุณคงไม่อยากให้ใครมานอนเบียดคุณใช่ไหมคะ? ทั้งนี้ก็ต้องคำนึงถึงงบในการก่อสร้างด้วย ต้องไม่ใหญ่จนเกินไป เผื่องบเอาไว้สักนิดสำหรับสร้างสระว่ายน้ำเล็กๆ ไว้ทำกิจกรรมร่วมกันกับคนในครอบครัวก็ดีไม่ใช่น้อย

2.เลือกบริษัทรับออกแบบบ้าน

เมื่อกำหนดรูปแบบของตัวบ้านไว้เรียบร้อยแล้ว ขั้นต่อไปคือ การยื่นขออนุญาตปลูกสร้างกับหน่วยงานราชการในพื้นที่ หากคุณยื่นกู้เงินกับธนาคาร ต้องแนบแบบรูปรายการให้ธนาคารพิจารณาด้วย ซึ่งการจัดทำแบบดังกล่าวอาจทำได้หลายวิธี เช่น จ้างสถาปนิกอิสระโดยตรง บริษัทรับออกแบบ และบริษัทสร้างบ้านแบบครบวงจร กำหนดรายละเอียดองค์ประกอบของบ้านให้ชัดเจน ตรงตามความต้องการ แล้วค่อยลงนามว่าจ้าง และเมื่อแบบเสร็จแล้วให้ตรวจสอบรายละเอียดให้แน่ใจ ก่อนชำระค่าดำเนินการค่ะ

  • ตรวจสอบแบบแปลนว่าห้องต่างๆ เช่น ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องรับแขก ห้องพักผ่อน ฯลฯ ได้ถูกจัดวางไว้ตรงตามความต้องการของคุณหรือไม่
  • ตรวจสอบความสวยงามจากแบบรูปทั้ง 4 ด้าน จนเป็นที่พอใจ
  • ตรวจสอบวัสดุที่ใช้ เช่น กระเบื้อง สุขภัณฑ์ งานไม้ งานประตู ฯลฯ ว่ามีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน
  • ตรวจสอบผังบริเวณบ้าน ว่าถูกจัดวางในตำแหน่งที่ถูกต้องแล้วหรือไม่

หากตรวจสอบแล้วยังมีส่วนที่ต้องเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไข ให้รีบแจ้งผู้ออกแบบเพื่อดำเนินการแก้ไขทันที เมื่อผู้ออกแบบแก้ไขเสร็จเรียบร้อย ให้คุณตรวจสอบอีกครั้ง หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เพิ่มเติม จึงจ่ายค่าดำเนินการต่อไปค่ะ

3.เลือกบริษัทรับสร้างบ้าน

ปัจจุบันบริษัทรับสร้างบ้านมีหลายแห่งให้เลือกใช้บริการ หากไม่ทราบว่าบริษัทใดน่าเชื่อถือบ้าง เรามีวิธีเลือกบริษัทรับสร้างบ้าน โดยพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ดังนี้

1.ชื่อเสียง ผลงานในอดีต หรือประวัติของบริษัท ว่ามีประวัติการก่อสร้างเป็นอย่างไร อาจขอดูบ้านที่บริษัทนั้นเคยสร้างไว้เพื่อประกอบการตัดสินใจ

2.บริการหลังการขาย ดูแลลูกค้าอย่างสม่ำเสมอหรือไม่ ให้บริการ หรือแก้ปัญหาได้ช้าหรือเร็ว

3.ทรัพยากรของบริษัท จำนวนบุคลากรเพียงพอต่อการก่อสร้างหรือไม่ หรือบุคลากรมีประสบการณ์มากน้อยเพียงใด เช่น วิศวกรโครงการ ช่างควบคุมงาน แม้กระทั่งผู้บริหารการก่อสร้างมีความเป็นมืออาชีพมากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้เพื่อให้คุณได้บ้านที่สมบูรณ์แบบที่สุด

4.ทำสัญญาว่าจ้างก่อสร้าง

เมื่อตัดสินใจว่าจ้างกับบริษัทดังกล่าวแล้ว ให้ทำสัญญาร่วมกันโดยพิจารณารายละเอียดในสัญญาให้รอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งงวดชำระ การประกันสิ่งปลูกสร้าง ระยะเวลาในการสร้างบ้าน หรือเงื่อนไขอื่นๆ เพื่อป้องกันการขัดแย้งในภายหลัง เช่น เมื่อดำเนินการก่อสร้างไปแล้วเกิดข้อขัดแย้ง จะทำให้เกิดผลกระทบในทางลบของทุกฝ่ายได้

5.เตรียมพื้นที่ก่อสร้าง

ท่านจะต้องจัดเตรียมสถานที่ก่อสร้างบ้านให้พร้อม ก่อนที่จะลงมือดำเนินการก่อสร้าง เช่น หากพื้นที่อยู่ในระดับต่ำเกินไป ควรถมดินให้สูงขึ้นเพื่อความปลอดภัยจากสภาวะน้ำท่วม หรือการย้ายเสาไฟฟ้า สาธารณูปโภคอื่นๆ ที่กีดขวาง ต้องจัดการให้เรียบร้อย ก่อนจะแจ้งให้บริษัทเข้าดำเนินการก่อสร้าง

6.ขั้นตอนงานก่อสร้าง

เราสามารถแบ่งขั้นตอนการก่อสร้างได้ ดังนี้

  • งานฐานและโครงสร้าง ในส่วนนี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่สุด หากมีการเปลี่ยนแปลงภายหลังจะมีค่าใช้จ่ายสูง จึงจำเป็นต้องตัดสินใจให้แน่ชัดก่อนลงมือตอกเสาเข็ม เนื่องจากโครงสร้างมีความสัมพันธ์กันทั้งอาคาร หากก่อสร้างไปแล้วอยากจะเปลี่ยนแปลงเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง จะกลายเป็นเรื่องยาก และทำให้เสียเวลาในการก่อสร้างส่วนอื่นๆ
  • งานผนังและหลังคา สำหรับจุดนี้เปรียบได้ดังหน้าตาของคน เพราะเป็นสิ่งแรกที่คนผ่านไปผ่านมาจะมองเห็นก่อน จึงต้องเลือกผนังและหลังคาให้สวยงาม อีกทั้งต้องคำนึงถึงการป้องกันความร้อนจากแสงแดด และน้ำฝน ดังนั้น ควรเลือกวัสดุก่อสร้างที่ดี มีคุณภาพ แข็งแรง คงทนต่อการใช้งาน

  • งานประตู หน้าต่าง การทำประตู-หน้าต่างมีผลต่อระยะเวลาก่อสร้าง เนื่องจากงานส่วนนี้จะต้องเตรียมการไว้ล่วงหน้า ตั้งแต่การจัดเตรียมช่องเปิดของผนัง และการสั่งผลิตจากผู้จัดจำหน่าย หากมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้ระหว่างก่อสร้าง จะส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายตามมา
  • งานระบบไฟฟ้าและประปา หากถูกออกแบบมาไม่เหมาะสม หรือติดตั้งผิดตำแหน่ง จะทำให้เกิดความไม่สะดวกขณะใช้งาน หรือเกิดอันตรายได้ เช่น ติดตั้งปลั๊กไปในจุดที่ต่ำหรือสูงเกิน

  • งานตกแต่งสถาปัตยกรรม เป็นการแสดงถึงรสนิยมของเจ้าของบ้าน ทั้งนี้อยู่ที่การเลือกวัสดุตกแต่ง ทั้งผิวพื้น ผนัง รวมถึงการเลือกความปลอดภัยเรื่องการอยู่อาศัย เช่น วัสดุพื้นที่ลื่น หรือหยาบในบางตำแหน่ง หากตกแต่งได้ดีก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับตัวบ้านได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องใช้ของแพงเสมอไปนะคะ ของถูกและดีก็มีให้เลือกเยอะค่ะ หากคิดว่าไอเดียตัวเองยังไม่บรรเจิด แต่งบ้านเองคงไม่รอด ลองใช้บริการมัณฑนากรมาช่วยคุณออกแบบภายในก็ดีไม่น้อยค่ะ

อยากบ้านหลังงามสักหลังไม่ใช่เรื่องง่ายเลยใช่ไหมคะ แต่มันก็ไม่ยากเกินความสามารถที่จะจัดการทุกอย่างให้ลงตัวได้ ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการขออนุญาตปลูกสร้าง ต้องระบุด้วยว่าจะปลูกสร้างบ้านประเภทไหน จวบจนถึงขั้นตอนการปลูกสร้าง ซึ่งคุณจะต้องใส่ใจทุกรายละเอียดให้รอบครอบ หากเกิดความผิดพลาดระหว่างการก่อสร้างขึ้นมา จะโทษใครไม่ได้นอกจากตัวคุณเอง เตือนไว้ด้วยความหวังดีนะคะ ^^

 

นามปากกา เสาเข็ม

สาว สวย สูง สุดสตรอง จิตใจหนักแน่น แข็งแกร่ง เปรียบเสมือนเสาเข็มของบ้าน รากฐานบ้านที่คงทน ต้องอาศัยความมั่นคงของเสาเข็ม